ไล่บี้เก็บภาษีหุ้นชินฯก่อนหมดอายุความ
งวดเข้ามาทุกทีสำหรับคดีเรียกภาษีจาก “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี จากกรณีขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้กับกลุ่มเทมาเส็กเมื่อวันที่ 23 ม.ค.2549 วงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาท
ต้นเรื่องเริ่มจาก “พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส” ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหนังสือแจ้งเตือนกรมสรรพากรให้เรียกเก็บภาษีเงินจาก “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้จากการขายหุ้นชินคอร์ปฯ ก่อนคดีจะขาดอายุความในวันที่ 31 มี.ค.2560 และสตง.ยืนยันว่ากรณีนี้สามารถดำเนินการได้ตามมาตรา 61 ของประมวลรัษฎากร อายุความ 10 ปี ตั้งแต่มีภาระภาษีเกิดขึ้น โดยสามารถเรียกเก็บได้ไม่ต้องมีการออกหมายเรียกซ้ำอีก เนื่องจากเคยมีหมายเรียกไปที่ นายพานทองแท้ ชินวัตรหรือ โอ๊ค และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร หรือ เอม บุตรชายและบุตรสาวนายทักษิณแล้ว
ด้าน “ประสงค์ พูนธเนศ” อธิบดีกรมสรรพากร ชี้แจงว่า “กรณีภาษีหุ้นชินฯได้ยุติการประเมินภาษีเมื่อช่วงปี 2554 ก่อนที่ผมจะมารับตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร และขณะนี้มีความชัดเจนแล้วว่า กรมสรรรพากร คงไม่สามารถดำเนินการอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้อีก เพราะจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า หุ้นที่นายพานทองแท้และนางพิณทองทา ถืออยู่เป็นหุ้นของนายทักษิณ และมีคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาให้ยึดทรัพย์ จำนวน 4.6 หมื่นล้านบาทของ นายทักษิณ มาเป็นของแผ่นดิน ซึ่งเงินภาษีจำนวนนี้ก็รวมอยู่ในเงินก่อนนี้ด้วย และเงินก็ตกมาเป็นของหลวงหมดแล้ว อยู่ที่กรมบัญชีกลางแล้ว ไม่รู้จะไปเอาเงินกับใครอีก”
แน่นอนว่าปัญหาเรื่องคดีความที่ใกล้หมดอายุลงในวันที่ 31 มี.ค.นี้ เป็นปัญหาคาราคาซัง จน“พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงขั้นตอนโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ได้มอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ติดตามทวงภาษีการขายหุ้นชินคอร์ปจากนายทักษิณ โดยใช้หลักเกณฑ์1.ต้องไม่ใช้มาตรา 44 ให้ใช้กฎหมายปกติ 2.ไม่ขยายอายุความ 3.ยืนอยู่บนหลักนิติธรรม และ 4.ดูเจตนาการขายหุ้นดังกล่าวว่าสุจริตหรือไม่ ถ้าสุจริตทุกอย่างจบ ถ้าไม่สุจริตต้องไปฟ้องร้องดำเนินคดีกันในชั้นศาล เพราะเป็นรายละเอียดที่มีกฎหมายเล็กซ่อนอยู่ในกฎหมายใหญ่ โดยในที่ประชุมครม.นายวิษณุใช้คำว่า ทำไม่ได้ แต่ทำได้ด้วยอภินิหารของกฎหมาย เพราะฉะนั้นมุมแบบนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรบางพลัด” ได้นำหนังสือประเมินภาษีเรียกเก็บ พร้อมค่าปรับและเงินเพิ่มรวมมูลค่า 17,000 ล้านบาท ไปติดที่หน้าบ้านพักจันทร์ส่องหล้า ซึ่งเป็นที่อยู่ของ นายทักษิณ ตามที่แจ้งไว้ในระบบทะเบียนราษฎร เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายที่ต้องประเมินภาษีจากการขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 329.2ล้านหุ้น เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2549 ให้กลุ่มเทมาเส็ก ภายใน 10 ปี ซึ่งจะหมดอายุความในวันที่ 31 มี.ค.นี้
ขณะที่ “นพดล ปัทมะ” หนึ่งในทีมกฎหมายนายทักษิณ แถลงข่าวยืนยันทันทีว่า “ยืนยัน นายทักษิณ ไม่มีภาระภาษี มาตั้งแต่ต้น การขายหุ้นชินคอร์ป ให้กลุ่มเทมาเซ็ก กระทำการผ่านตลาดหลักทรัพย์ จึงไม่มีภาระภาษี เช่นเดียวกัน อีกทั้งคดีภาษีนี้ขาดอายุความไปแล้ว จึงไม่สามารถขยายเวลาเพื่อประเมินภาษีได้ และฝ่ายกฎหมายจะดำเนินการยื่นอุทธรณ์เรื่องดังกล่าว ภายใน 30วัน นับตั้งแต่วันนี้เพื่อชี้แจงในทุกประเด็น เชื่อว่าคณะกรรมการอุทธรณ์จะรับฟังข้อเท็จจริงตามกฎหมาย ซึ่งหากตัดสินว่าไม่มีภาระภาษีเรื่องนี้ก็ยุติ แต่หากคณะกรรมการฯ ชี้ว่าต้องชำระภาษี ก็จะยื่นฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลาง และยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา157 และ ตามกฎหมายอื่นๆ เพื่อรักษาสิทธิ และระบบกฎหมายตามหลักนิติธรรม”
ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ชี้แจงว่า“ถือเป็นข้อปฏิบัติในการเรียกเก็บภาษี หากเจอตัวต้องยื่นโดยตรง แต่เมื่อเจ้าตัวไม่อยู่ก็ต้องนำไปติดไว้ที่บ้าน เช่นเดียวกับหมายศาลหมายเรียกอื่นๆ ก็ต้องนำไปติดไว้ที่บ้านของทุกคน ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการสร้างความสามัคคีปรองดอง เพราะเป็นเรื่องของกฎหมาย รัฐบาลละเว้นไม่ได้ และต้องดำเนินการตามกระบวนการของภาษี ถ้าไม่เห็นด้วยก็สามารถที่จะอุทธรณ์ได้ โดยต้องว่าไปตามกระบวนการภาษีและกฎหมาย ผิดหรือไม่ผิดก็มาต่อสู่คดี ซึ่งสามารถอุทธรณ์ได้ ผมยังไม่ใช้มาตรา 44 ยังใช้กฎหมายปกติ ก็ไปสู้กันเอง”