คลังมอบแบงก์ลุยตั้งเครื่องอีดีซี 5.6 แสนเครื่อง
คลังลงนามแต่งตั้ง 2 กลุ่มธนาคารยักษ์ใหญ่ให้บริการเครื่องอีดีซี ภายใต้เงื่อนไขต้องติดตั้งให้แล้วเสร็จทั้งหมด 560,000 เครื่องภายใน 1 ปี “อภิศักดิ์” ย้ำแบงก์คิดค่าธรรมเนียมร้านค้าไม่เกิน 0.55% ต่อ 1 ราย ต่ำที่สุดในโลก
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงการคลังว่า วานนี้ (13 มี.ค.) นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ได้เป็นประธานในพิธีแต่งตั้งผู้ประกอบการติดตั้งเครื่องรับชำระเงินอัตโนมัติ หรืออีดีซี เพื่อรับชำระหนี้จากบัตรเดบิตที่มีชิปการ์ด ภายในโครงการยุทธศาสตร์ National e-Payment หรือโครงการชำระเงินด้วยอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ โดยกระทรวงการคลังได้แต่งตั้งผู้ประกอบการ 2 กลุ่มคือ 1.กลุ่ม Consortium ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด และธนาคารธนชาต และ 2. กลุ่มกิจการค้าร่วมโครงการอีเพเม้นท์ ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด และธนาคารกสิกรไทย โดยทั้ง 2 กลุ่มจะต้องแข่งขันติดตั้งเครื่องอีดีซีจำนวนทั้งหมด 560,000 เครื่องให้เสร็จภายใน 1 ปี ซึ่งในจำนวนนี้ จะต้องติดตั้งเครื่องอีดีซีภาครัฐ 18,000 เครื่องให้แล้วเสร็จภายในเดือนก.ย.นี้
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า จากนี้ไป การติดตั้งเครื่องอีดีซี จะเป็นตัวสำคัญในการพัฒนาระบบการชำระเงินของไทยภายใต้โครงการ National e-Payment โดยการลงนามในสัญญาครั้งนี้ กระทรวงการคลังได้มอบหมายเรื่องการติดตั้งเครื่องอีดีซี ให้แก่กลุ่มธนาคารและสถานบันการเงินทั้ง 2 กลุ่ม โดยตั้งเป้าหมายจะติดเครื่องอีดีซีให้แก่หน่วยงานราชการ 18,000 เครื่อง หรือ 18,000 แห่งก่อนเป็นอันแรก โดยจะติดตั้งตามจุดที่สำคัญๆ เช่น กระทรวง ทบวง กรมทุกแห่ง รวมไปถึงคลังจังหวัด สถานีตำรวจ กรมที่ดินรวมถึงจุดที่ให้บริการประชาชน ก่อนเป็นอันดับต้นๆ เพราะกระทรวงการคลังต้องการให้เกิดการใช้สวัสดิการจากรัฐผ่านเครื่องอีดีซีก่อนเป็นอันดับแรก
“ในต้นเดือนเม.ย.นี้ กระทรวงการคลังจะเปิดรับลงทะเบียนคนจน ซึ่งจะสอบคล้องกับการโครงการนี้พอดี โดยตั้งเป้าจะเริ่มดำเนินโครงการให้ได้ภายในเดือนมิ.ย.นี้ สำหรับประชาชนที่ลงทะเบียนคนจน”
นอกจากนี้ ในเดือนมิ.ย.2560 กระทรวงการคลังจะประชาสัมพันธ์โครงการโดยจะมีการแจงเงินรางวัลด้วยวิธีการจับสลากมูลค่ารวม 84 ล้านบาท โดยรางวัลใหญ่ที่สุดจะมีเงินรางวัลสูงถึง 1 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นรางวัลของร้านค้าที่ติดตั้งเครื่องอีดีซี 1 รางวัล และรางวัลประชาชนทั่วไปอีก 1 รางวัล รวมรางวัลที่ 1 มีจำนวน 2 รางวัลรางวัลละ 1 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีรางวัลที่ 2 และที่ 3 เรียงตามลำดับ โดยมั่นใจว่า เงินรางวัล 1 ล้านบาท จะช่วยทำให้ประชาชนตื่นตัว และใช้บริการจากเครื่องอีดีซีเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีการคิดค่าบริการต่ำที่สุดคือ ไม่เกิน 0.55% ต่อ1รายการ และยังต่ำที่สุดที่ในโลก เพราะเป็นการชำระเงินภายในประเทศ ไม่ใช่ระบบการชำระเงินระหว่างประเทศเหมือนกับบัตรวีซ่า และบัตรมาร์เตอร์การ์ด
นายพรชัย ฐีระเวช รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าว่า หลังจากวันนี้ (13 มี.ค.) ผู้ให้บริการจะเริ่มทยอยวางอุปกรณ์ฯ ทันที โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1 ปี 2561 ทั้งนี้ ผู้ให้บริการทั้ง 2 ราย จะดำเนินการที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและร้านค้า โดยจะเห็นได้จากการปรับลดค่าธรรมเนียมการรับบัตรเดบิตที่ปกติจะเก็บในอัตรา 1.5 – 2.5 % ของมูลค่าเงินที่ชำระ เป็นเพียงไม่เกิน 0.55% เท่านั้น ซึ่งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนทางธุรกิจให้กับร้านค้าและจูงใจให้ร้านค้าเลือกรับบัตรอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น และจะไม่มีการเก็บค่าเช่าและค่าติดตั้งอุปกรณ์ฯ โดยอาจเก็บค่ามัดจำเพื่อป้องกันอุปกรณ์เสียหาย โดยร้านค้าจะได้คืนเมื่อยกเลิกการใช้บริการ
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังได้มีมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนร้านค้าที่ติดตั้งอุปกรณ์ฯ โดยให้ร้านค้าสามารถนำค่าใช้ จ่ายจากการรับบัตรไปหักเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ 2 เท่า จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2564 ซึ่งมาตรการดังกล่าวนี้ จะช่วยร้านค้าให้ติดตั้งเครื่องอีดีซี ได้มากขึ้น อีกทั้งกระทรวงการคลังยังจะมีมาตรการจูงใจผ่านการชิงโชคการใช้บัตรเดบิตให้ประชาชนและร้านค้า เพื่อกระตุ้นการใช้บัตรและชำระเงินในระบบอีเพย์เมนต์ โดยจะจัดแคมเปญแจกรางวัล ให้ผู้ใช้และร้านค้าได้มีสิทธิลุ้นโชคจากการชำระเงินผ่านเครื่องรับบัตรและตู้เอทีเอ็ม เป็นระยะเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนมิ.ย.2560 (สำหรับผู้ที่ใช้บริการในเดือนพ.ค.2560) ซึ่งรางวัลจะมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 84 ล้านบาท.
ด้านนายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ในฐานะพันธมิตรที่ดีและร่วมมือกันในหลายโครงการ จับมือร่วมกันในชื่อ “กิจการการค้าร่วมโครงการอีเพเม้นต์” ได้รับการคัดเลือกจากคณะอนุกรรมการคัดเลือกและกำกับดูแลผู้ให้บริการวางอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์กระทรวงการคลัง เข้าร่วมดำเนินโครงการวางอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ National e-Payment ในการติดตั้งเครื่องรูดบัตร (EDC) จำนวน 550,000 รายทั่วประเทศ โดยมั่นใจว่าด้วยความแข็งแกร่งของฐานร้านค้ารับบัตรเครดิตเดิมของธนาคารกรุงเทพและธนาคารกสิกรไทยที่รวมกันแล้วมีส่วนแบ่งตลาดถึง 70% จะช่วยให้การดำเนินโครงการวางอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์สำเร็จตามเป้าหมายของรัฐบาล และจะเป็นจุดเริ่มต้นของยุคใหม่ในการชำระเงินเพื่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของคนไทย
โดยเฉพาะการรับบัตรที่มีโครงสร้างเครือข่ายระบบการชำระเงินของประเทศไทย (Local Card Scheme) หรือบัตรที่มีการประมวลผลในประเทศ (Local Switching) ตามแผนพัฒนาระบบสถาบันของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีแบรนด์ เทคโนโลยี และกฎข้อบังคับของตนเอง ที่จะทำให้ต้นทุนค่าธรรมเนียมต่ำลง สอดคล้องกับโครงการในครั้งนี้ที่ได้มีการกำหนดเพดานอัตราค่าธรรมเนียมการรับบัตร (Merchant Discount Rate) หรือ MDR สูงสุดไม่เกิน 0.55% ต่อครั้ง ดึงดูดให้ร้านค้าทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ยินดีรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยบัตรเดบิตมีจำนวนขยายตัวในวงกว้างเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า การร่วมมือกับธนาคารกรุงเทพจะเพิ่มความมั่นใจให้กับร้านค้าต่างๆ มากขึ้น นอกจากนี้ ทั้งสองธนาคารมีกระบวนการทำงานที่สอดคล้องกัน สามารถจัดสรรเป้าหมายและแบ่งภาระความรับผิดชอบได้ชัดเจน มีการวางแผนความร่วมมือในระยะยาว ในการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาพัฒนาระบบการชำระเงินของประเทศให้ สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และมีต้นทุนที่ต่ำลง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมของประเทศ
โครงการนี้ได้เปิดโอกาสให้ธนาคาร ซึ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิ์ในการติดตั้งเครื่อง EDC กับหน่วยงานภาครัฐสามารถเข้าไปมีส่วนในการขยายบริการทางการเงินให้กับหน่วยงานภาครัฐมากขึ้นกว่าเดิม สำหรับการเข้าติดต่อร้านค้านิติบุคคลและบุคคลธรรมดาจดภาษีมูลค่าเพิ่ม จะเป็นอีกช่องทางในการขยายฐานลูกค้า และเป็นการเปิดโอกาสให้ธนาคารได้นำเสนอผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่เหมาะสมกับลูกค้ามากขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าในการตัดสินใจด้วย
“ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทย มีความยินดีและภาคภูมิใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับรัฐบาลที่มีเป้าหมายเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินของประเทศ เพื่อลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจให้กับภาคเอกชน และส่งเสริมการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) และลดการใช้เงินสดในชีวิตประจำวัน” นายปรีดี กล่าว
ทั้งนี้ การกระจายติดตั้งเครื่องรูดบัตร (EDC) ทั่วประเทศให้กับหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และร้านค้าทั่วไป จะเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้ประชาชน และภาคธุรกิจ สามารถเข้าถึง และใช้บริการชำระเงินผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ เช่น บัตรเดบิต ได้อย่างสะดวกและแพร่หลายด้วยต้นทุนการจัดการเงินสดที่ลดลง ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะเป็นผลดีในระยะยาวต่อประเทศ ภาคธุรกิจการค้า และประชาชน ทำให้โครงสร้างเครือข่ายระบบการชำระเงินของประเทศไทยเทียบเท่าระบบสากล ตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยและรัฐบาลในเรื่อง National e-Payment ในการเชื่อมโยงระบบการชำระเงิน เพื่อเดินหน้าสู่สังคมไร้เงินสดได้ในอนาคต.