S&P เขย่งอันดับเครดิตไทย Positive
อันดับความน่าเชื่อถือของไทยขยับขึ้นอีก หลัง S&P ปรับ Outlook จากเดิม Stable เป็น Positive ด้าน “อุตตม” ย้ำ เพราะไทยมีจุดเด่นปัจจัยบวก 4 ด้าน ประกอบกับมีรัฐบาลเลือกตั้ง ห่วงแค่ผลกระทบสงครามการค้าทำส่งออกไทยย่ำแย่
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า เมื่อเวลา 16.30 น. ของวานนี้ (11 ธ.ค.62) บริษัท S&P Global Ratings (S&P) ได้ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของเศรษฐกิจไทยจากระดับมีเสถียรภาพ (Stable) เป็นเชิงบวก (Positive) และยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลในการออกตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศระยะยาวที่ BBB+ และระยะสั้นที่ A-2 รวมทั้งคงอันดับความน่าเชื่อถือสกุลเงินบาทระยะยาวที่ A- และระยะสั้นที่ A-2 โดยมีปัจจัยด้านบวกของประเทศไทยมาจาก 1.ภาคการคลังที่แข็งแกร่งและระดับหนี้สาธารณะที่ต่ำ 2.ฐานะการเงินระหว่างประเทศและสภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูง (Solid External Balance Sheet and Liquidity) 3.การดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่เหมาะสมในช่วงที่ผ่านมา และ 4 การมียุทธศาสตร์ชาติก็เป็นสิ่งที่ดี
รวมทั้งการมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่น่าจะตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ดี มีเสถียรภาพทางการเมือง (Political Stability) ที่น่าจะส่งผลดีกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ (Economic Reform) และการบริหารงาน (Public Administration) เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Growth) อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อจากนี้ไป บริษัท S&P ประเมินว่า ควรต้องติดตามผลกระทบของสงครามการค้าสหรัฐฯ – จีน ที่มีต่อภาคการส่งออกของไทย
ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมา สถาบันจัดอันดับเครดิตชั้นนำต่างๆ ได้ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือที่มีต่อเศรษฐกิจไทย โดยเมื่อเดือน ก.ค.62 บริษัท Fitch Ratings (Fitch) และบริษัท Moody’s Investors Service (Moody’s) ได้ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยจากระดับมีเสถียรภาพ (Stable) เป็นเชิงบวก (Positive) และยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยที่ระดับ BBB+ และ Baa1 ตามลำดับ ต่อมาเมื่อเดือน ต.ค.62 บริษัท Rating and Investment Information, Inc. (R&I) ปรับอันดับความน่าเชื่อถือของไทยดีขึ้นจากระดับ BBB+ มาเป็น A- สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อเศรษฐกิจไทย
“การปรับมุมมองความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยของสถาบันจัดอันดับเครดิตชั้นนำต่างๆ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และสนับสนุนให้รัฐบาลสามารถดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะต้องเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) ต่อไป เพื่อยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทยในอนาคต” รมว.คลังย้ำ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ เมื่อช่วงปลายเดือน ต.ค.62 ธนาคารโลก (World Bank) ยังได้จัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจประจำปี 63 (Doing Business 2020) ของประเทศไทย โดยเลื่อนอันดับจากเดิมที่ 27 เป็นอันดับที่ 21 ของโลก มีคะแนน 80.10 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 1.65 คะแนน นับเป็นอันดับที่ดีที่สุดของไทยในรอบ 6 ปี และมีคะแนนขึ้นมาใกล้เคียงกับประเทศสิงคโปร์ ซึ่งอยู่อันดับที่ 2 (86.20 คะแนน) และมาเลเซีย ซึ่งอยู่อันดับที่ 12 (81.50 คะแนน) ทั้งนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี คาดหวังว่าประเทศไทยจะขยับอันดับของ Doing Business เข้าไปติด TOP 20 ให้ได้ภายในปี 2564.