“พรเพชร” สั่งสอบ 7 สนช.โดดประชุม
กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต เมื่อโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ออกมาเปิดเผยข้อมูล 7 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
ขาดประชุมเป็นประจำและไม่ได้ร่วมลงมติถึง 1 ใน 3 ตามกติกาของทุกรอบ 90 วัน จนอาจทำให้สิ้นสภาพจากสนช.
สำหรับรายชื่อทั้ง 7 คน ประกอบด้วย 1. พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ อดีตเสนาธิการทหารเรือ 2. นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ 3. นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา 4. นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรม 5. พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม 6. พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) และ 7. พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.)
เป็นเหตุให้ “ นายศรีสุวรรณ จรรยา ” เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นหนังสือถึง “ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.” ให้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว เพราะอาจเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 มาตรา 9 (5) กรณีไม่มาแสดงตนในการลงมติประชุม สนช. ให้สมาชิกภาพการเป็นสนช.สิ้นสุดลงพร้อมเรียกร้องให้ 7 สนช.แสดงสปิริตลาออก และคืนเงินเดือนให้ประชาชน
และหลังจากรับหนังสือ นายพรเพชร ประธานสนช.สั่งให้ “ นายพีระศักดิ์ พอจิต ” รองประธานสนช. คนที่สอง ในฐานะประธานคณะกรรมการจริยธรรม และคณะทำงานเร่งตรวจสอบ และพิจารณา 2 กรณี
คือ 1. มีการกระทำผิดข้อบังคับการประชุมหรือไม่ และ 2. มีการกระทำผิดตามหลักจริยธรรมหรือไม่และคาดว่าภายในสัปดาห์หน้า คณะกรรมการฯคงจะเร่งดำเนินงานและได้ข้อสรุปที่แท้จริง ซึ่งหากผลจะออกมาเป็นอย่างไร เราก็ต้องดำเนินการทุกอย่างให้ถูกต้องอย่างแน่นอน. และในส่วนของพล.อ.ปรีชา เป็นช่วงการลงมติที่ไอลอว์นำมาคือตอนที่ดำรงตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม
“ ทั้งที่ข้อบังคับบางข้อ ผมก็ไม่เห็นด้วย แต่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสนช.มาแล้ว ดังนั้น ไม่มีอะไรที่ผมปฏิบัติไม่ถูกต้องตามข้อบังคับเพียง แต่ใช้การเข้มงวดขึ้น ซึ่งสมาชิกก็เริ่มเข้าใจแล้วว่าทำไมผมถึงต้องเข้มงวด เพราะบางครั้งท่านก็มีตำแหน่งสูงๆกัน ก็รู้อยู่ว่าการลาแบบนี้ ผมต้องเข้มงวด การที่บอกว่าผมอนุมัติง่ายๆนั้น นายศรีสุวรรณไม่ได้มาลากับผมจึงไม่รู้ การลาป่วย 2 วันผมกำหนดให้ต้องยื่นใบรับรองแพทย์ด้วย ส่วนลากิจต้องเป็นการลาไปปฏิบัติภารกิจของราชการ เรื่องที่มีการไปลงข่าวว่ามีการลาย้อนหลังนั้นมันไม่ใช่ มีเพียงลาป่วยที่คนจะป่วยไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ จึงต้องยื่นใบลาย้อนหลัง ส่วนลากิจต้องยื่นใบลาก่อนไปแล้วส่งให้เจ้าหน้าที่ทันที ไม่ได้มีการลาย้อนหลังอะไร ” นายพรเพชร กล่าว
เมื่อถามว่าการันตีได้หรือไม่ว่าที่ผ่านมาสนช.ทั้ง 7 คนทำงานอย่างแข็งขัน นายพรเพชร กล่าวว่า หลายคนที่รู้จักก็ทำงานอย่างแข็งขัน ต้องเข้าใจว่า สนช.ที่มีชื่อส่วนใหญ่เป็นข้าราชการประจำ ในช่วงที่เขาตรวจสอบ ซึ่งเป็นช่วงที่มีการลงมติ ไม่ใช่เรื่องการไม่มาประชุม ดังนั้นในช่วงการลงมติเมื่อสมาชิกติดภารกิก็ต้องไป บางทีอาจลงมติในช่วงที่สมาชิกติดภารกิจ หลายคนจะขอลาในช่วงนั้น คนเหล่านี้ตนเห็นหน้าในสภาเป็นประจำ และตอนนี้บางคนก็เกษียณอายุราชการไปแล้ว เช่น พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ตนก็พบท่านเป็นประจำในสภา จึงคิดว่าสถิติของท่านคงโอเค เมื่อถามต่อว่าเหตุที่กรณีพล.อ.ปรีชาเป็นประเด็นเป็นเพราะน้องชายนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า “ ไม่ทราบ แต่ช่วงการลงมติที่ไอลอว์นำมาแฉนั้น ท่านทำหน้าที่ปลัดกระทรวงกลาโหมอยู่ ”
ด้าน “นายพีระศักดิ์ พอจิต” เปิดเผยว่า ในวันที่ 24 ก.พ.นี้ จะได้ข้อสรุปว่า การยื่นใบลาขาดลงมติของสนช.ทั้ง 7 คนดำเนินการอย่างถูกต้องหรือไม่ เพราะข้อมูลทุกอย่างมีหลักฐานพร้อมอยู่แล้ว ส่วนขั้นตอนการทำงานของคณะกรรมการจริยธรรมจะแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน คือ 1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจะตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นว่าคำร้องที่ยื่นมาดำเนินการอย่างถูกต้องหรือไม่ มีกรอบเวลา 30 วัน 2. หากยื่นคำร้องอย่างถูกต้องคณะกรรมการจริยธรรม จะมีเวลา 60 วัน ในการตรวจสอบโดยจะเชิญผู้ร้องและผู้ถูกร้องมาให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการฯ
งานนี้ “พี่ใหญ่แห่งคสช.” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ต้องออกมาปกป้องพร้อมชี้แจงว่า “ เรื่องดังกล่าวไม่ได้เป็นประเด็นอะไร สมาชิก สนช.ทั้ง 7 คน ลาอย่างถูกต้องตามระเบียบทุกอย่าง คิดว่าระหว่างที่ลาได้มีการลงคะแนนในแต่ละมาตรา จึงนำจุดนี้มาเป็นประเด็นแล้วโจมตี ผมจึงได้ให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนให้ชัดเจน ”
สวนทางกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบุ “ประเด็นอยู่ที่มีชื่อน้องชายผมด้วย กติกาเขาว่าอย่างไร ก็เป็นไปตามนั้นไปตรวจสอบกันมา ถ้าไม่ครบจริงเขาก็ต้องตัดชื่อออกและก็ต้องพ้นหน้าที่ไปก็เท่านั้นเอง แต่ที่ผ่านมาไม่ใช่พล.อ.ปรีชา ไม่มาประชุมสนช.เลย ก็ไปตรวจสอบกันอย่าเอามาพันกับเรื่องรับเงิน 2 ทาง เขาก็มีเงินเดือน มีบำเหน็จบำนาญของเขาอยู่แล้ว เพราะเป็นข้าราชการที่เกษียณอายุราชการ”.