โบรกฯห่วงอสังหาฯ ปี 63 ยอดโอนสะดุดเจอพิษ LTV
ซีอีโอ KW (Thailand) ห่วงตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2563 จะยิ่งถดถอย เหตุลูกค้าที่ต้องโอนที่อยู่อาศัยจะเจอเกณฑ์หนักของ LTV เหตุผู้ซื้อยังไม่มีเงินสะสมพอ พร้อมหนุนเลื่อนบังคับใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
นายวิทย์ กุลธนวิภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท KW (Thailand) บริษัทตัวแทนขายและที่ปรึกษาการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ที่มียอดขายสูงที่สุดในสหรัฐอเมริกาและมีเครือข่ายจำนวนพนักงานสูงที่สุดทั่วโลก เปิดเผยถึงภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ปี 2563 ว่า ยังคงมีผลกระทบจากมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ (LTV ratio) ที่เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 และคาดว่าจะส่งผลรุนแรงขึ้นต่อตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย เนื่องจากสัญญาซื้อขายที่ได้รับการยกเว้นจากมาตรการ LTV ในกรณีที่ทำสัญญาก่อน 15 ตุลาคม 2561 เริ่มจะทยอยโอนหมดไปในไตรมาสแรกของปี 2563 ดังนั้น การระบายสต๊อก จึงต้องขายให้กับผู้ซื้อที่เข้าเกณฑ์ LTV เกือบทั้งหมด ปี 2563 จึงจะเกิดผลกระทบอย่างแท้จริงจากมาตรการ LTV ซึ่งผู้ซื้อยังไม่มีเงินสะสม ที่จะใช้ในการชำระเงินดาวน์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีแนวโน้มในการถดถอยของตลาดอย่างมาก
นอกจากนั้น ผลจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ทำให้กำลังซื้อลดน้อยลง ดังนั้น การใช้นโยบายรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย อาจจะเป็นการดำเนินนโยบายที่ผิด เนื่องจากสภาวะที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกดิจิทัล และการเพิ่มขึ้นของการใช้ Crypto Currency ทั่วโลกให้ค่าเงินบาทไม่มีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงได้ การรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจที่วางไว้ 10 ปีข้างหน้า อาจจะไม่มีประโยชน์ ถ้าตลาดอสังหาริมทรัพย์เกิดการถดถอยในช่วงระยะเวลานี้ จึงเรียกร้องให้ใช้ข้อมูลประเมินผลจากการใช้ LTV อย่างจริงจังและตรงกับความเป็นจริง และพิจารณาการปรับมาตรการนี้อย่างเร่งด่วน.
สำหรับประเด็นที่กระทรวงมหาดไทย ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา เรื่อง ขยายกำหนดเวลาดำเนินการตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562″ เฉพาะการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประจำปี 2563 เป็นการทั่วไปนั้น นายวิทย์ กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังไม่พร้อมและมีอุปสรรคในหลายๆด้าน เช่น การสำรวจและประเมิน การเริ่มใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ ยังมีช่องว่างในการบังคับใช้ที่ต้องกลับมาพิจารณา เช่น พนักงานตรวจสอบและบังคับเป็นหน่วยงานเดียวกัน ที่อาจจะทำให้เกิดอำนาจมากเกินไป ทำให้อาจจะเกิดการเลือกปฎิบัติได้
นอกจากนั้น การเริ่มใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินใหม่ จะส่งผลลบต่อสภาพตลาดเชิงจิตวิทยา ซึ่งสวนทางกับมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ เช่น การเพิ่มการลดหย่อนภาษี การลดค่าโอน ค่าจดจำนอง เหลือ 0.01% และโครงการบ้านดีมีดาวน์ ซึ่งยังมีความสับสนในภาคปฏิบัติรวมทั้งการลงทะเบียนขอสิทธิ์อยู่.