คลังใช้บัตรเครดิตคุมค่ารักษาพยาบาล
คลังเล็งให้ข้าราชการที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลต้องใช้บัตรที่มีชิฟการ์ด เหมือนกับบัตรเครดิตเพิ่มอีก 1 ใบ เพื่อเชื่อมโรงระบบคอมพิวเตอร์ผ่าน e-Payment หวังลดการทุจริต
“การปรับปรุงค่ารักษาพยาบาลของกระทรวงการคลัง เพื่อต้องการสะท้อนให้เห็นถึงภาระงบประมาณที่เพิ่ม” นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวและกล่าวว่าที่ผ่านมา ปลัดกระทรวงการคลังได้เคยศึกษาเรื่องให้บริษัทประกันเอกชนเข้ามาดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาลแต่ท้ายที่สุดก็ถูกต่อต้าน จึงต้องถอยเรื่องนี้ออกไปก่อน แต่เราก็ไม่หยุดที่จะเลิกคิด เพราะหากไม่ทำอะไรเลยปัญหาก็จะมากขึ้น จึงสั่งให้กรมบัญชีกลางนำระบบการชำระเงินด้วยอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-Payment มาใช้ควบคู่กับการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ
“ ปีงบประมาณที่แล้ว (2559) สำนักงบประมาณตั้งงบค่ารักษาพยาบาลเอาไว้ 60,000 ล้านบาท แต่ผลการเบิกจ่ายจริงสูงถึง 71,000 ล้านบาท ซึ่งเราเชื่อว่า มีการทุจริตหรือไม่โปร่งใสเกิดขึ้นอย่างแน่นอน จึงจำเป็นต้องมีระบบการชำระเงินรูปแบบใหม่ที่สามารถตรวจสอบได้ โดยได้เสนอให้กรมบัญชีกลางไปหารือกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อออกแบบวิธีการชำระเงินรูปแบบใหม่ ซึ่งในเบื้องต้น ข้าราชการต้องมีบัตรเพิ่มเติมอีก 1ใบ ซึ่งมีหน้าตาคล้ายกับบัตรเครดิต ที่บรรจุข้อมูลต่างๆ ลงในชิฟการ์ด เช่น ประวัติการักษาโรคและหน่วยงานที่สังกัด เป็นต้น โดยคาดว่า จะเริ่มแจกบัตรรักษาพยาบาลให้แก่ข้าราชการได้ต้นปีงบประมาณ 2561 หรือในเดือนต.ค.นี้ ”
ขณะที่ นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีข้าราชการหรือคนในครอบครัวที่ได้รับสิทธิ์ดัง กล่าว แต่นำสิทธิ์ไปใช้อย่างไม่ถูกต้องจำนวนมาก เช่น เบิกยาจากโรงพยาบาลเกินความจำเป็นแล้วนำยาไปขายหรือที่เรียกว่า “ช้อปปิ้งยา” และยังมีเรื่องโรงพยาบาลเบิกค่ารักษาพยาบาลและจ่ายยาแพงเกินจริง เป็นต้น
ซึ่งปัจจุบันข้าราชการ 1 คน จะได้รับสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลประกอบด้วย พ่อ แม่ สามีหรือภรรยาและลูก ซึ่งรวมแล้วมีประมาณ 4.2-4.6 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นภาระต่อเงินงบประมาณ และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี แต่เราจะไปตัดสิทธิ์ประโยชน์ของข้าราชการไม่ได้ จึงต้องพยายามควบคุมการเบิกจ่ายเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ปัจจุบัน ข้าราชการต้องใช้บัตรประจำตัวข้าราชการในการติดต่อกับโรงพยาบาลซึ่งข้อมูลในบัตรจะระบุเพียงแต่ชื่อ นามสกุล หน่วยงานสังกัดและชั้นยศเท่านั้น ไม่มีรายละเอียดใดๆ ทั้งสิ้น และที่สำคัญข้อมูลในบัตรก็ไม่ได้เชื่อมโยงกับระบบคอมพิวเตอร์เนื่องจากไม่มีชิฟการ์ด แต่เมื่อถึงเวลาการจ่ายเงิน โรงพยายามก็จะโอนข้อมูลที่เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่ายา และค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ มายังกรมบัญชีกลางเพื่อขอเบิกจ่ายเงิน โดยค่าใช้จ่ายทั้งหมดกรมบัญชีกลางก็จะโอนเงินเข้าบัญชีของโรงพยาบาล ซึ่งกว่าตรวจสอบความถูกต้องได้หมดก็จะใช้เวลานานมาก
“การมีบัตรสุขภาพของข้าราชการจะเหมือนกับมีบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นอีก 1 ใบ เมื่อข้าราชการเข้าโรงพยาบาลก็ต้องโชว์บัตรและรูดบัตรรักษาพยาบาลกับโรงพยาบาล เพื่อตรวจสอบความถูกต้องเช่น ชื่อ นามสกุล ตำแหน่ง และสิทธิ์ประโยชน์ที่ได้รับจากทางราชการ โดยข้อมูลทั้งหมดจะเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของบัญชีกลาง เพื่อนำมาประมวลผลว่า ข้าราชการผู้นั้น พบแพทย์บ่อยแค่ไหน มีการเวียนเทียนไปโรงพยาบาลอื่นๆ อีกหรือไม่ และยาที่ได้รับจากโรงพยาบาลนั้น มีปริมาณมากเกินไปหรือไม่ หากกรมบัญชีกลางพบสิ่งผิดปกติ ก็จะสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ทันที จากปัจจุบันที่กรมบัญชีกลางมีหน้าที่จ่ายเงินเพียงอย่างเดียว เพราะไม่มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบดูแลข้าราชการได้อย่างทั่วถึง”
ในต้นปีงบประมาณ 2561 หรือเดือนต.ค.2560 กรมบัญชีกลางคาดว่า จะสามารถแจกบัตรรักษาพยาบาลให้แก่ข้าราชการได้ ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการศึกษาร่วมกับผู้แทนจากธนาคารกรุงไทย และบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (เคทีซี) โดยระบบใหม่นี้ ตนมีความมั่นใจว่า จะสามารถควบคุมการใช้จ่ายเงินทางด้านรักษาพยาบาลข้าราชการได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะประหยัดเงินประมาณได้มากน้อยแค่ไหนเพราะอยู่ระหว่างการวางแผนและการวางระบบให้เกิดความ ชัดเจน แต่ขอยืนยันว่า สิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลของข้าราชการยังอยู่เหมือนเดิมทุกประการ เพียงแต่ต้องนำบัตรไปใช้ควบคู่กับการรักษาพยาบาลด้วย ซึ่งจะช่วยให้การตรวจสอบมีความถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น.