คลังมั่นใจ กม.ภาษีที่ดินฯก่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ
“ปลัดคลัง” เชื่อเม็ดเงินภาษีก้อนใหม่ จาก กม.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ มีมากกว่าเงินที่สูญเสียไปหลายเท่าตัว ย้ำสำคัญมากกว่านั้น คือ หน่วยงานรัฐได้รับรู้ฐานข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินและการนำที่ดินไปพัฒนา สร้างความเข้มแข็งต่อเศรษฐกิจไทย มั่นใจกองทุนใหม่ “SSF” ไม่กระทบการลงทุนในตลาดหุ้นฯ เหตุนักลงทุนเข้าใจจุดประสงค์การออมระยะยาว
นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เพิ่งพิจารณาอนุมัติ ร่างพระราชกฤษฎีกา และร่างกฎกระทรวงที่ต้องจัดทำตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 รวม 3 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายมีความสมบูรณ์ โดยเฉพาะ ร่าง พ.ร.บ.การลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. … ว่า จะมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการกำหนดและวางแผนงานในเชิงนโยบาย รวมถึงทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยที่ผ่านมารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยรับรู้ถึงข้อมูลการใช้ประโยชน์ในผืนดินประเภทต่างๆ ว่า มีการนำไปใช้เพื่อการใด? ใครเป็นผู้ครอบครอง? ครอบครองมาแต่เมื่อใด? และในปริมาณเนื้อที่เท่าใด? ดังนั้น การมีกฎหมายการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ แม้จะทำให้รายได้ของภาครัฐ โดยเฉพาะในส่วนรายได้ภาษีขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ลดลงตามอัตราภาษีใหม่ที่มีให้กับประชาชน แต่ก็จะมีรายได้ส่วนอื่นๆ กล่าวคือ การจัดเก็บภาษีที่ดิน ภายหลังการจัดสรรประโยชน์ที่ดินให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดมาทดแทน และมีรายได้เพิ่มมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว
“กฎหมายใหม่จะปลุกเร้าทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากการครอบครองที่ดินสูงสุด หากพื้นที่ไหนไม่นำไปพัฒนา เช่น ปลูกไม้ยืนต้น เรือกสวนไร่นา หรือนำไปพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัย อาทิ บ้านจัดสรร คอนโดมีเนียม และอื่นๆ ก็จะต้องเสียภาษีในอัตราที่สูง โดยเมื่อมีการนำที่ดินไปพัฒนา ก็จะเกิดการหมุนเวียน ผ่านการซื้อขายถ่ายโอน ซึ่งจะทำให้ภาครัฐมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีในส่วนที่เกี่ยวข้องอีกเป็นจำนวนมาก” ปลัดกระทรวงการคลังย้ำ
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ (3 ธ.ค.62) นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า การลดภาษีที่ดินฯดังกล่าว ถือเป็นการลดภาษีของประชาชน แม้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะสูญเสียรายได้ 2,700 ล้านบาทก็ตาม แต่ อปท.จะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินราว 39,420 ล้านบาท
ส่วน มติ ครม.ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบในมาตรการส่งเสริมการออมระยะยาว ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยเฉพาะการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อ “กองทุนรวมเพื่อการออม” (Super Savings Fund: SSF) หรือ “กองทุน SSF” ที่จะมาแทนที่กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long-Term Equity Fund) หรือ LTF จะส่งผลกระทบต่อภาคการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯหรือไม่? เนื่องจากกองทุนดังกล่าวไม่ระบุถึงการนำเงินเข้าไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เหมือนเช่นกองทุน LTF เกี่ยวกับประเด็นนี้ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ไม่น่าจะส่งผลกระทบมากนัก และเชื่อว่านักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯเอง ก็มีวิจารณาณในการลงทุน และรู้ดีว่ากองทุนใหม่ (กองทุน SSF) ที่รัฐบาลมุ่งเน้นส่งเสริมการออมระยะยาวมีประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจอย่างไร.