จับนักการเมืองเซ็น “เอ็มโอยู” ปรองดอง
ในที่สุด “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ฤกษ์ออกมาตรา 44
เพื่อจัดตั้ง “คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง” หรือป.ย.ป.อย่างเป็นทางการ
โดยมีเนื้อหากำหนดตั้ง คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองเรื่องเสนอ ป.ย.ป. 4 คณะ 1. คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เป็นผู้รับผิดชอบ 2. คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ และ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯ เป็นผู้รับผิดชอบ 3.คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ มีพล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯ และ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกฯ เป็นผู้รับผิดชอบ และ 4.คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม เป็นผู้รับผิดชอบ และคณะกรรมการแต่ละชุดให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) และรองประธานสนช.และรองประธานสปท.คนที่ 1 เป็นกรรมการ ขณะเดียวกันยังกำหนดให้จัดตั้งสํานักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรีขึ้นเป็นหน่วยงานภายใน สํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่กลั่นกรอง ตรวจสอบ ประเมินผล กําหนดตัวชี้วัด และติดตาม ความก้าวหน้าในการดําเนินการตามมติของ ป.ย.ป.
สอดคล้องกับมติที่ประชุมคสช.นัดพิเศษ เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา มีมติออกคำสั่งตามมาตรา 44 จัดตั้งคณะกรรมการป.ย.ป. เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนงาน 3 ด้าน คือ 1.ขับเคลื่อนนโยบายตามยุทธศาสตร์ ชาติ ของคณะทำงานขับเคลื่อนเดิมที่มีรองนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบให้เกิดความชัดเจนขึ้น 2.กลุ่มงานปฏิรูปที่มีการเอาแผนปฏิรูปของสปท. มาจัดกลุ่มว่าสิ่งใดทำไปแล้วและสิ่งใดจะต้องทำต่อและนำไปสู่การปฏิบัติ และ3.คณะกรรมการปรองดองที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ
ขณะที่ พลเอกประยุทธ์ ออกมายืนยันว่า “เรื่องการปรองดองเป็นเรื่องของจิตใจที่ทุกคนต้องหันหน้ามาคุยกัน ไม่ใช่บังคับ เพราะคงไม่ไปบังคับ เป็นหน้าที่ทุกคนที่ต้องทำเพื่อประเทศชาติ ขอย้ำ คสช. รัฐบาล รวมทั้งตัวผมไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งของใคร รัฐบาลต้องเป็นกลาง ผมรับฟังความเห็นของทุกภาคส่วน เรื่องปรองดอง นักการเมืองเองก็ควรตระหนักว่าวันข้างหน้าจะอยู่กันอย่างไร อย่าเพิ่งไปเอาเรื่องนิรโทษอะไรขึ้นมาพูดก่อน เพราะเอาเรื่องนี้ขึ้นมาพูดก่อนเมื่อไหร่ทะเลาะกันทุกที ยืนยันรัฐบาลชุดนี้เข้ามาไม่ได้ทำให้เกิดความขัดแย้ง แต่เข้ามาเพื่อยุติความขัดแย้ง”
แน่นอนว่าหัวใจสำคัญของคณะกรรมการป.ย.ป.อยู่ที่ “คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง” ที่มี “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นแม่งานคุมงานใหญ่พาประเทศหลุดพ้นความขัดแย้ง
ต้องบอกว่าการส่ง “พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์” ทำหน้าที่ “มือประสาน” ครั้งนี้ ด้วยพื้นฐานเป็นผู้กว้างขวาง มีสายสัมพันธ์แนบแน่นอันดีกับพรรคการเมือง โดยเฉพาะแกนนำพรรคการเมืองที่สามารถต่อสายตรงเชื่อมได้ทุกพรรค จึงไม่ใช่เรื่องยากที่การสร้างความปรองดองครั้งนี้จะไม่ประสบความสำเร็จ
ขณะเดียวกันไฮไลท์สำคัญอยู่ที่ไอเดียสุดบรรเจิด เชิญพรรคการเมือง คู่ขัดแย้ง กลุ่มเห็นต่างจับเข่าคุย พร้อมกับให้เซ็นเอ็มโอยูยุติความขัดแย้ง เพื่อเดินหน้าไปสู่ความปรองดอง ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น
ท่ามกลางเสียงขานรับจาก “2 พรรคใหญ่” ทั้งเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ พร้อมใจกันส่งสัญญาณประสานเสียงสนับสนุน เพราะถือเป็นการสร้างบรรยากาศของความสงบสุขและสันติ ซึ่งเป็นอีกหนทางที่บ้านเมืองจะกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตย
ส่วนกลุ่มการเมือง “จตุพร พรหมพันธุ์ ” ประธานกลุ่มนปช. ออกมาขานรับ “ประกาศพร้อมให้ความร่วมมือและพร้อมจะลงนามในเอ็มโอยู เพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้าต่อได้ รวมถึงหากมีการเชิญนปช.ไปร่วมพูดคุยสร้างความปรองดองก็ยินดีไปร่วม และจะจัดทำข้อเสนอในเรื่องดังกล่าวไปเสนอ
สวนทางกับกลุ่มกปปส. “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ประธานกปปส.ไม่เห็นด้วย เนื่องจากเห็นว่า “ หัวใจหลักที่สำคัญของการปรองดองคือ ต้องรณรงค์ให้ประชาชนทั้งประเทศ เคารพกฎหมายบ้านเมือง และต้องปฏิบัติอยู่ในกรอบของกฎหมาย การเซ็นเอ็มโอยูร่วมกันไม่ใช่วิธีที่จะสร้างความปรองดอง ยืนยันกปปส.จะไม่ไปร่วมลงนาม เอ็มโอยู เพราะการลงนามไม่ใช่ประโยชน์หรือทางออกของการปรองดองอย่างแท้จริง”
จากนี้คงต้องรอพิสูจน์ฝีมือ “บิ๊กป้อม” จะพาประเทศหลุดพ้นความขัดแย้งไปสู่ความปรองดองได้หรือไม่