ครม.ลดภาษีอัญมณีดันไทยเป็นฮับ
ครม.สนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณี ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ หวังขึ้นแท่นเป็นฮับอัญมณีโลก พร้อมอัดฉัดซอฟท์โลนหมื่นล้านบาท
“ ครม.ได้เห็นชอบมาตรการสนับสนุนไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก โดยลดอัตราภาษีนำเข้าจากต่างประเทศลง” นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ แถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล หลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสร็จสิ้น
คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 ม.ค.2560 เห็นชอบมาตรการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก ประกอบด้วย มาตรการทางภาษี มาตรการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ มาตรการยกระดับฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ และมาตรการทางการเงิน ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
” ปัจจุบันไทยส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับมากถึงปีละ 400,000 ล้านบาท เป็นอันดับที่ 8 ของโลก และเป็นสินค้าที่นักท่องเที่ยวซื้อจากเรามากเป็นอันดับ 4 จากสินค้าทั้งหมด และเป็นสินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้ตั้งแต่ต้นทางการเจียระไนพลอย เผาพลอย กลางทาง ได้แก่ การออกแบบ การขึ้นรูป จนถึงปลายทางคือสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับต่างๆ มีการจ้างงานกว่าปีละ 900,000 คน และมีผู้ประกอบการกว่า 37,000 ราย “
สำหรับมาตรการที่ได้อนุมัติในวันนี้ ประกอบด้วย 1.การยกเว้นอาการขาเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในตอนที่ 71 จำนวน 32 ประเภทย่อย 2.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่ มาตรการภาษีที่กำหนดให้ผู้ประกอบการสามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายประเภทเงินเดือนหรือค่าจ้างแรงงานที่เป็นช่างเครื่องประดับที่ผลิตด้วยมือที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นเวลาสามรอบบัญชี และการยกระดับคุณภาพสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับด้วยการจัดทำมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับของตลาดโลก โดยมีตราสัญลักษณ์กลางที่ใช้รับประกันคุณภาพ 3.การยกระดับคุณภาพฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ โดยการจัดตั้งโรงเรียนเฉพาะทางเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ประกอบการรายใหญ่และต่างประเทศ 4.มาตรการทางการเงิน ด้วยการต่ออายุมาตรการสินเชื่อเอสเอ็มอีวงเงิน 30,000 ล้านบาทออกไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค.2560 หรือจนกว่าวงเงินจะจัดสรรหมด ซึ่งปัจจุบันสินเชื่อดังกล่าว อยู่ในกลุ่มสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ หรือซอฟท์โลน ซึ่งปัจจุบันยังเหลือวงเงินสินเชื่ออยู่อีก 17,323 ล้านบาท 5.มาตรการส่งเสริมด้านการตลาด โดยการประชาสัมพันธ์ในย่านการค้าที่สำคัญ
” แม้การยกเว้นอากรขาเข้าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ปีละ 324 ล้านบาท แต่เมื่อคิดถึงผลประโยชน์ในการสร้างประเทศไทยให้เป็นฮับของการค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 17,000 ล้านเหรียญสหรัฐภายใน 3 ปี “
นายณัฐพร กล่าว ที่ผ่านมารัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมด้านต่างๆ เช่น การยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบเพื่อนำมาใช้ในการผลิต การลดอากรขาเข้าสินค้าสำเร็จรูปเหลือ 10% การลดภาษีมูลค่าเพิ่มในบางกรณี การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่อง จักรและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต.