“สมคิด”ยิ้มส่งออกพุ่งโดนใจรัฐบาล
“กอบศักดิ์” มั่นใจเศรษฐกิจไทยปีหน้า จุดติดแน่นอนหลังจากประเมินสถานการณ์ส่งออกของไทยในเดือนพ.ย. ดีเกินคาด ทำให้ปีหน้า คาดส่งออกติดจรวดบวก2-3% รับข่าวราคาน้ำมันขึ้นดันสินค้าเกษตรเช่น ยางพาราพุ่ง
“อาจารย์สมคิด สั่งให้ผมลงมาแถลงข่าวเพิ่มเติมหลังจากที่เมื่อวานนี้ (26 ธ.ค.) กระทรวงพาณิชย์แถลงข่าวดีเกี่ยวกับเรื่องการส่งออกในเดือนพ.ย.ที่เพิ่มขึ้นเกือบ 11%” นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า และกล่าวอย่างมั่นใจว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะขยายตัวได้ 3.5-4% ซึ่งเป็นการเติบโตดีกว่าในปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3 – 3.5% ขณะที่การส่งออกในปีหน้า คาดการณ์ว่าจะสามารถกลับมาเป็นบวกได้ที่ 2-3% โดยได้ปัจจัยหนุนจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เริ่มฟื้นตัว เศรษฐกิจของประเทศหลักหลายประเทศปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งภาวะเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่า
พร้อมกับระบุว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้มาชี้แจงเป็นกรณีพิเศษ ภายหลังจากกระทรวงพาณิชย์ได้แถลงตัวเลขการส่งออกในเดือนพ.ย.59 ที่ขยายตัวสูงถึง 10.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งรัฐบาลดีใจกับมูลค่าการส่งออกดังกล่าว และถือเป็นตัวเลขที่ดีที่สุดในรอบ 9 เดือน แม้ว่าจะหักน้ำมันและทองคำออกไปแล้วมูลค่าการส่งออกยังขยายตัวเป็นบวกถึง 9.3% ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม
ทั้งนี้ สินค้าส่งออกส่วนใหญ่มาจากสินค้าเกษตรที่ขยายตัวดี เช่น สินค้าข้าว ขยายตัวได้ 26% ยางพารา ขยายตัวได้ 16% และมันสำปะหลัง ขยายตัวได้ 18% รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัวได้สูงขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสินค้าในหมวดเครื่องจักร หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นนี้มีความสอดคล้องกับประเทศคู่ค้าต่างๆ เช่น ไต้หวัน, เวียดนาม, สิงค์โปร์ และอินโดนีเซีย ที่การส่งออกขยายตัวใกล้เคียงกับประเทศไทย สะท้อนว่าภาพรวมการส่งออกของโลกกำลังปรับตัวดีขึ้น
“ถ้าเป็นลักษณะนี้จะถือเป็นข่าวดี ว่าแรงกระตุ้นเศรษฐกิจไทยมาจากภาคส่งออกในบางส่วน ทำให้เศรษฐกิจไทยมีแรงขับ เคลื่อนอีกแรงหนึ่งในช่วงต่อไป ถ้าเกิดถามผม ผมคิดว่าถ้าตัวเลขมีเพียงประเทศไทยประเทศเดียวคงไม่ดีใจเท่านี้ แต่ประ เทศอื่นๆ ในภูมิภาคก็ขยายตัวเช่นกัน สะท้อนว่าตลาดส่งออกโลกอยู่ในช่วงปรับตัวดีขึ้น ก็หวังว่าแนวโน้มเดินหน้าต่อไปในช่วงเดือนธันวาคมและส่งผลต่อเนื่องไปถึงปีหน้า” นายกอบศักดิ์ กล่าว
ขณะที่ภาพรวมการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2560 นายกอบศักดิ์ ประเมินว่าจะอยู่ที่ระดับ 3.5 – 4% เป็นผลมาจากนโยบายการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชนที่จะออกมาในปีหน้า เช่น งบประมาณ 1 แสนล้านบาท ที่ให้กลุ่มจังหวัดนำไปพัฒนา รวมถึงโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่จะทยอยออกมา ทั้งโครงการรถไฟใต้ดิน, รถไฟทางคู่, สนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 และการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่ดีขึ้น รวมถึงการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นด้วย
ขณะที่ GDP ไตรมาสที่ 4/59 คาดว่าจะขยายตัวได้ 3 – 3.5% มาจากนโยบายช็อปช่วยชาติที่ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนและผลจากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น โดยมั่นใจว่าทั้งปี 2559 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3 – 3.5% อย่างแน่นอน
นายกอบศักดิ์ กล่าวถึงปัจจัยที่ส่งผลให้ภาคการส่งออกของไทยน่าจะขยายตัวดีต่อเนื่องไปถึงปี 2560 มาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวจากระดับ 29 ดอลลาร์/บาร์เรล ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 52 ดอลลาร์/บาร์เรลในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน และมาจากเศรษฐกิจในหลายประเทศปรับตัวดีขึ้น ทั้งสหรัฐ ญี่ปุ่น ส่งผลดีต่อการส่งออกกับประเทศคู่ค้า นอกจากนี้ ปัจจัยด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ก็จะส่งผลดีต่อผู้ส่งออกของไทยให้ได้รับกำไรในรูปของเงินบาทมากขึ้น และมีกำลังใจในการส่งออกมากขึ้น
และสุดท้ายปัจจัยเรื่องนโยบายกีดกันทางการค้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ นั้น มองว่าจะมีผลต่อประเทศไทย 2 ส่วน ส่วนหนึ่งดีกับประเทศไทยโดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากเมื่อมองถึงตัวรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ที่มีไม่ต่ำกว่า 6-7 คนเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ทำให้นนโยบายที่จะออกมาเอื้อต่อภาคธุรกิจ ทั้งเรื่องการลดภาษี การปรับปรุงกฏระเบียบที่เป็นอุปสรรค และนโยบายส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน จะทำให้สหรัฐมีเศรษฐกิจคึกคักมากขึ้น ส่งผลต่อดีการส่งออกของไทยไปสหรัฐเพิ่มมากขึ้นด้วยและน่าเป็นผลบวกต่อประเทศ ขณะที่อีกด้านเป็นข้อระวังคือ ความผันผวนในตลาดโลก ในระหว่างการทำนโยบายข้อตกลงธุรกิจการค้าที่ดีต่อสหรัฐ อาจส่งผลต่อเม็กซิโก กลุ่ม TPP และจีน เพราะทั้ง 3 กลุ่มเป็นคู่แข่งกับไทย ถ้ามีการปรับตัวประเทศไทยก็จะได้ประโยชน์จากในส่วนนี้เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2559 กระทรวงพาณิชย์ได้แถลงการณ์ส่งออกของไทยในเดือนพ.ย.59 ที่พลิกกลับมาขยายตัว 10.2% โดยมีมูลค่าส่งออก 18,911 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สูงสุดในรอบ 9 เดือน ส่งผลให้ไทยเกินดุล 1,543 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 19
ส่วนการนำเข้าเดือน พ.ย.59 มีมูลค่า 17,368 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 3.0% ส่งผลให้ดุลการค้าเดือน พ.ย.59 เกินดุล 1,543 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ช่วง 11 เดือนของปี 59 (ม.ค.-พ.ย.59) การส่งออกมีมูลค่า 197,162 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -0.05% นำเข้ามีมูลค่า 177,441 ล้านดอลลาร์ หดตัว -5.1% เกินดุลการค้า 19,721 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
“การส่งออกในเดือน พ.ย.59 ที่ขยายตัวได้ถึง 10.2% นั้นถือเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่เดือน ก.พ.59 ที่การส่งออกขยายตัวได้ 10.27% และแม้มูลค่าการส่งออกจะหักสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับทองคำและน้ำมันออกไปแล้ว ก็ยังสามารถขยายตัวได้สูงถึง 9.3%” น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า
โดยปัจจัยที่สนับสนุนให้การส่งออกของไทยในเดือนนี้ขยายตัวได้ดีมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากตลาดแรงงาน เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเศรษฐกิจจีนเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น รวมทั้งราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นตามการลดลงของอุปทานในตลาด และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าตามทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ส่งผลให้การส่งออกไทยในเดือนพฤศจิกายน 59 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 9 เดือน สะท้อนถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของภาวะการค้าระหว่างประเทศที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ มองว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญในตลาดโลกได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ทั้งน้ำมันดิบดูไบ, น้ำมันปาล์ม, น้ำตาลทราย, ข้าว, ยางพารา และทองคำ เป็นต้น โดยในปีหน้าจะเริ่มเข้าสู่ในช่วงขาขึ้น
ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง และอุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์ ขยายตัวในระดับสูง อีกทั้งการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ อาทิ ข้าว ยางพารา และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี โดยเป็นผลจากปริมาณที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ นอกจากนี้การส่งออกสินค้าเกี่ยวที่เนื่องกับน้ำมันกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบกว่า 25 เดือน ตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น
สำหรับการส่งออกไปยังตลาดสำคัญกลับมาขยายตัวในเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น จีน เอเชียใต้ และ CLMV ขยาย ตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ยูโรโซน (15) สหรัฐฯ และอาเซียน (9) กลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้ง
ส่วนการค้าชายแดนและผ่านแดนเดือน พ.ย.59 กลับมาขยายตัวที่ 0.1% เป็นผลจากการขยายตัวของการค้าชายแดนเป็นหลัก ขณะที่การค้าผ่านแดนหดตัวเล็กน้อย โดยการค้าชายแดน (ระหว่างไทยกับมาเลเซีย เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา) มีมูลค่า 88,720.3 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 0.2%) ขณะที่การค้าผ่านแดน (สิงคโปร์ จีนตอนใต้ เวียดนาม) มีมูลค่า 15,317.8 ล้านบาท (ลดลง 0.8%) รวมการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนมีมูลค่าทั้งสิ้น 104,038.2 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 0.1%)
“รวม 11 เดือนแรกของปี 59 การส่งออกหดตัวเล็กน้อยที่ 0.05%เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์การส่งออกของโลก พบว่าการส่งออกของไทยอยู่ในสถานะที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยของโลก โดยการส่งออกโลกเฉลี่ยหดตัว 4.0% ขณะที่การส่งออกไทยเฉลี่ยหดตัวเพียง 0.05% เท่านั้น” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว
สำหรับแนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 59 คาดว่าจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าปีก่อน และมีโอกาสกลับมาขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 4 ปี โดยมีปัจจัยสำคัญจากราคาน้ำมันดิบที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรสำคัญ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ทิศทางค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่า จะช่วยสนับสนุนให้การส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้คาดว่าการส่งออกทั้งปี 59 จะกลับมาโตเป็นบวก จากเดิมคาดหดตัว -1% ถึงโต 0%
อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เป็นไปอย่างล่าช้า อีกทั้งความไม่ชัดเจนของนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันต่อการค้าโลกในระยะต่อไป ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า คาดว่าการส่งออกทั้งปี 59 จะมีมูลค่าระหว่าง 2.142 ถึง 2.149 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. หรืออยู่ในช่วง -0.1% ถึง 0.2%
“คาดว่าในเดือนธ.ค.การส่งออกจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยทั้งปี 59 คาดว่า จะอยู่ในช่วง -0.1% ถึง 0.2%” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว
โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ 1.ราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคายางพาราและน้ำตาลทรายโลก 2.มูลค่าการส่งออกสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันมีทิศทางเพิ่มขึ้น ตามแนวโน้มราคาน้ำมัน หลังจากที่กลุ่มโอเปกและกลุ่มประเทศนอกโอเปกนำโดยรัสเซียบรรลุข้อตกลงเรื่องการปรับลดกำลังการผลิต 3.ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่อง หลังจาก FED ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อวันที่ 13-14 ธ.ค.59 4.ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ไม่ส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนอย่างชัดเจน และ 5.ตลาด CLMV ยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะ อัญมณี เครื่องดื่ม และยานยนต์
ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงได้แก่ 1.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันยังไม่เพียงพอที่จะขับเคลื่อนให้มูลค่าการค้าโลกขยายตัวได้ดีในระดับที่เคยเป็นในอดีต 2.ความกังวลจากความไม่ชัดเจนของนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยกดดันการค้าโลกในระยะต่อไป และ 3.ค่าเงินประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ทั้ง มาเลเซีย และจีน อ่อนค่าค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังประเทศดังกล่าว รวมทั้งอาจกระทบต่อการส่งออกไทยในตลาดที่เป็นคู่แข่งซึ่งกันและกัน.