แนะรัฐตั้งเครือข่ายสื่อพลังงานลุยเอ็นจีโอ
“ที่ปรึกษา รมว.พลังงาน” แนะรัฐบาล “ตั้งเครือข่ายสื่อ” ขวางเอ็นจีโอให้ข้อมูลด้านเดียว เผยประเทศไทยมีข้อเท็จจริงด้านพลังงานเพียงชุดเดียว แต่ถูกบิดเยือนจากฝ่ายตรงข้าม ย้ำไทยเป็นผู้นำเข้าพลังงานสุทธิ และติดลบปีละ 7 แสนล้านบาท
นายมนูญ ศิริวรรณ ที่ปรึกษา รมว.พลังงงาน และ ผชช.ด้านพลังงาน กล่าวตอนหนึ่งระหว่างร่วมโครงการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า โดยสรุปสถานการณ์ภาพรวมพลังงานในประเทศไทย/แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ว่า ประเทศไทยมีข้อมูลด้านพลังงงานเพียงชุดเดียว กล่าวคือ
1.ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าพลังงานสุทธิ หมายถึงนำเข้ามากกว่าส่งออก โดยแต่ละปีมีการนำเข้ามากถึง 1 ล้านล้านบาท แต่ส่งออกเพียง 3 แสนล้านบาทเท่านั้น
2.แหล่งพลังงานลดลงเรื่อยๆ โดยตลอดเวลากว่า 40 ปีที่เริ่มขุดก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ พบว่ามีการเปิดสัมปทานการสำรวจโดยขุดเจาะหลุมต่างๆ รวม 20 รอบ และการขุดเจาะรอบที่ 1 และ 2 พบแหล่งพลังงานมากสุด หลังจากนั้นพบน้อยมาก โดยเฉพาะรอบที่ 18-20 มีน้อยจนไม่พอใช้ในเวลา 1 ปี ทั้งนี้ ครั้งสุดท้าย (20) ที่เปิดให้มีการสำรวจฯเกิดขึ้นเมื่อ 7 ปีที่แล้ว นั่นเพราะมีการคัดค้านจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย
ล่าสุด รัฐบาลเพิ่งอนุญาตให้มีการสำรวจหลุม “บงกช-เอราวัณ” ซึ่งถือเป็นรอบที่ 21 แต่ก็เป็นไปในลักษณะการแบ่งปันผลประโยชน์ (PSC) แทนการสัมปทานทาน ส่วนการเปิดให้มีการสำรวจครั้งใหม่รอบที่ 22 ตอนนี้ยังไม่เกิดขึ้น
และ 3.ประเทศไทยพึ่งพิงการผลิตไฟฟ้าด้วยการใช้ก๊าซธรรมชาติในสัดส่วนที่สูงมาก กลายเป็นความเสี่ยงที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ขณะที่ประเทศมาเลเซียมีแหล่งสำรองก๊าซธรรมชาติมากมากกว่า แต่ยังคงผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินที่มีต้นทุนต่ำกว่ามาก ซึ่งทำได้ไม่ง่ายนักในประเทศไทย
“ทุกวันนี้เรานำเข้าพลังงานสูงมาก หากเทียบกับการส่งออกข้าวแล้ว ไทยต้องส่งออกข้าวมากถึง 16 ปี เพื่อนำเข้าพลังงานมาใช้แค่เพียงปีเดียว ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องจากเอ็นจีโอฝ่ายนั้น ที่ต้องการให้รัฐบาลลดราคาน้ำมันให้เท่ากับมาเลเซียที่ลิตรละ 18 บาท หากรัฐบาลทำตามข้อเรียกร้องดังกล่าว จะส่งผลกระทบตามมามากมาย เช่น รายได้รัฐลดลง คนไทยจะไม่ประหยัดใช้น้ำมันมีมากขึ้น เกิดความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางพลังงาน เป็นต้น”
ที่ปรึกษา รมว.พลังงงาน กล่าวอีกว่า ในเมื่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถจะตอบโต้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งมักจะให้ข้อมูลด้านเดียว เช่น ประเทศมีแหล่งสำรองพลังงานเหลือเยอะมาก มีการผลิตเพื่อการส่งออกสูงมาก มีความยาวของท่อก๊าซในทะเลยาวมากที่สุดในโลก และอื่นๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง แต่พูดไม่หมด ขณะที่นักวิชาการและภาคเอกชน หากไม่ถูกพาดพิงมาถึงตัวเองก็มักจะไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นในประเด็นข้อเท็จจริง ในส่วนของภาคประชาชนเอง ก็ขาดความรู้และความเข้าใจ เนื่องจากเรื่องพลังงงานเป็นเรื่องที่เข้าใจยากและต้องใช้เวลาในการศึกษาทำความเข้าใจยาวนาน
“รัฐบาลควรจะสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนที่รู้จริงในเรื่องพลังงานเป็นการเฉพาะ เพื่อจะได้นำเสนอข้อมูลและข้อเท็จให้สังคมไทยได้รับรู้ แทนจะรับฟังข้อมูลด้านเดียวจากฝ่ายที่ไม่เห็น ซึ่งอาจมีนัยสำคัญแอบแฝงตามมา” นายมนูญ ย้ำ.