ศาลดึง GSB COiB คืนเงินหมื่นล.หลังปิดคดี
แบงก์ออมสินผนึกสำนักงานศาลยุติธรรม นำระบบ GSB COiB มาใช้ในการจ่ายคืน “ค่าธรรมเนียมศาล เงินค่าปรับ และเงินกลางในคดีแก่คู่ความ” แก่นิติบุคคลทั่วไทย หลังปิดคดีแล้ว เผย “ดีเดย์” ใช้ง่านตั้งแต่ 26 พ.ย.เป็นต้นไป ระบุเม็ดเงินหมุนเวียนในชั้นศาลแต่ละปีสูงกว่า 1 หมื่นล้านบาท เม็ดเงินนี้ถูกนำไปฝากไว้กับแบงก์ออมสิน ก่อนส่งคืนประชาชน ย้ำก่อประโยชน์ในหลายมิติแก่ทุกฝ่าย ทั้งศาลและประชาชน
นายอิสระ วงศ์รุ่ง รอง ผอ.ธนาคารออมสิน กลุ่มลูกค้าบุคคล ธนาคารออมสิน กล่าวหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงการใช้บริการธนาคารทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับลูกค้านิติบุคคล (บริการ GSB Coporate Internet Banking : GSB COiB) ร่วมกับสำนักงานศาลยุติธรรม ว่า เป็นการเพิ่มสิทธิภาพการให้บริการและจอำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการทางการเงินของหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานศาลยุติธรรม อีกทั้งช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายของประชาชนในการติดต่อราชการ
“สำนักงานศาลยุติธรรมถือเป็นลูกค้าค้าชั้นดี และมีเงินที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีในชั้นศาลเป็นจำนวนมาก ฝากไว้กับธนาคารออมสิน ดังนั้นความร่วมมือในการใช้บริการ GSB COiB ครั้งนี้ สามารถตอบโจทย์ของสำนักงานศาลยุติธรรม และหน่วยงานในสังกัด รวมถึงภาคประชาชนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการโอนเงินผ่านธนาคารทางอินเตอร์เน็ตของธนาคารออมสินในการจ่ายคืนค่าธรรมเนียมศาล เงินค่าปรับ และเงินกลางในคดีแก่คู้ความ รวมถึงความสามารถบริหารจัดการทางการเงินได้อย่างมี สะดวกรวดเร็ว และปลอดภัย โดยธนาคารออมสินขะไม่คิดค่าธรรมเนียมการดำเนินงานแต่อย่างใด เพราะถือเป็นบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนอย่างครบวงจร” นายอิสระ กล่าวและว่า
บริการ GSB COiB ไม่เพียงให้บริการทางการเงินแก่สำนักงานศาลยุติธรรม และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนแบบดิจิทัล หากยังสนองตอบนโยบายการพัฒนาระบบการเงินและการคลังของสำนักงานศาลยุติธรรมและหน่วยงานในสังกัด มุ่งสู่การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืน (D – Court 2020) ของสำนักงานศาลยุติธรรม รวมถึงสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ตามแผนยุทธศาสตร์การพันาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงิน National e-Payment
ด้านนายศุภกิจ แย้มประชา รองเลขาธิการ สำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวเสริมว่า ระบบ GSB COiB ของธนาคารออมสิน ยังช่วยลดปัญหาความผิดพลาดและการทุจริตคอร์รัปชั่นที่อาจเกิดขึ้นได้จากระบบการเงินแบบเก่า ในการจ่ายเงินคืนแก่คู่ความเมื่อคดีสิ้นสุดลง อีกทั้งยังเป็นนโยบายของประธานศาลฎีกาคนใหม่ (นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์) ที่ต้องการผลักดันให้สำนักงานศาลยุติธรรมและหน่วยงานในกำกับดูแล โดยเฉพาะสำนักงานศาลยุติธรรมทั่วประเทศทั้ง 280 แห่ง มุ่งสู่ยุคดิจิทัล และนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในระบบการคืนเงินผ่านอินเตอร์เน็ต แบงก์กิ้ง เพื่อประโยชน์ของสำนักงานศาลยุติธรรมและหน่วยงานในกำกับดูแล รวมถึงให้บริการประชาชนในอนาคต ซึ่งวันนี้ (26 พ.ย.) ถือเป็นการ “ดีเดย์” ในการเปิดใช้ระบบดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีนิติบุคคลสมัครเข้าร่วมโครงการรับชำระเงินผ่านระบบ GSB COiB แล้ว 2,000 ราย เนื่องจากธนาคารออมสินและสำนักงานศาลยุติธรรม ได้ใช้เวลาในการเตรียมงานและประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มเป้าหมายทราบเป็นระยะๆ ไปบ้างแล้ว คาดว่าหลังจากการลงนามฯในครั้งนี้ จะมีกลุ่มนิติบุคคลสมัครเข้าร่วมโครงการฯอีกเป็นจำนวน เบื้องต้นธนาคารออมสินได้กำหนดวงเงินในการโอนและรับชำระทั้งของ สำนักงานศาลยุติธรรม และนิติบุคคล ผ่านธนาคารออมสิน และธนาคารพาณิชย์อื่นๆ แต่ละรายรวมกันไม่เกิน 500,000 บาทต่อรายการ และไม่เกิน 5,000,000 บาทต่อวัน
ทั้งนี้ มีวงเงินหมุนเวียนจากการดำเนินคดีในชั้นศาลทั่วประเทศ ผ่านสำนักงานศาลยุติธรรมและหน่วยงานในกำกับดูแล แต่ละปีไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ จะถูกนำไปฝากไว้กับธนาคารอาคารออมสิน ซึ่งการนำระบบ GSB COiB มาใช้จะช่วยให้การดำเนินงานของสำนักงานศาลยุติธรรม โดยเฉพาะการจ่ายเงินคืนแก่คู่ความเมื่อคดีสิ้นสุดลงง่ายขึ้น
อนึ่ง แต่ละปีสำนักงานศาลยุติธรรมมีรายได้จากค่าธรรมเนียมศาล เงินค่าปรับ และอื่นๆ รวมกันประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยเงินจำนวนนี้จะถูกส่งไปเป็นเงินแผ่นดินต่อไป.