คปภ.เร่งเยียวยาเหยื่อตึกถล่มที่ภูเก็ต
คปภ. สั่งทีมงานในพื้นที่เร่งช่วยเหลือ “7 เหยื่อ” ตึกถล่มที่ภูเก็ต เผยพบมีรทำประกันภัยอุบัติเหตุ พร้อมประสานการจ่ายสินไหมเพื่อเยียวยาความสูญเสียโดยเร็ว
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวถึงกรณีอาคารกำลังก่อสร้างทรุดตัวบริเวณ ถ.เพชรเกษม ต.เทพกษัตรี อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 7 ราย และผู้บาดเจ็บ 2 ราย ว่า เบื้องต้นได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ บูรณาการร่วมกับ สำนักงาน คปภ. ภาค 8 (สุราษฎร์ธานี) และ สำนักงาน คปภ. จ.ภูเก็ต เจ้าของพื้นที่เกิดเหตุ ตรวจสอบการทำประกันภัยพร้อมเร่งอำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับผู้ประสบภัย ตลอดจนติดตามรายงานความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งให้ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต เพื่อใช้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
จากรายงานเบื้องต้นทราบว่า อาคารกำลังก่อสร้างดังกล่าวไม่ได้จัดทำประกันภัย แต่กับผู้เสียชีวิต 3 รายมีบัตรเอทีเอ็มและบัตรเครดิตของธนาคารและได้ทำประกันภัยไว้ คือ รายแรก Mr.Nay Myo Win มีประกันอุบัติเหตุ บมจ.กรุงเทพประกันภัย ทุนประกัน 200,000 บาท และประกันอุบัติเหตุ บมจ.ทิพยประกันภัย ทุนประกันอีก 100,000 บาท รายที่สอง Mr. Kay Thi Khang มีประกันอุบัติเหตุ บมจ.กรุงเทพประกันภัย ทุนประกัน 100,000 บาท และประกันอุบัติเหตุ บมจ.ทิพยประกันภัย ทุนประกันอีก 100,000 บาท รวมทั้งสิ้น 200,000 บาท และ รายที่สาม นายกฤษณะ ขันบุตร มีประกันภัยอุบัติเหตุ K-MAX บมจ.เมืองไทยประกันภัย ทุนประกัน 100,000 บาท และมีความคุ้มครองการใช้จ่ายผ่านบัตรเพิ่มอีก 100,000 บาท โดยในส่วนของผู้เสียชีวิตชาวพม่า 2 รายที่ตรวจสอบพบประกันภัยข้างต้น จะต้องตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลและหมายเลขไอดีจากพาสปอร์ตเพื่อยืนยันตัวตนอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนนั้น สำนักงาน คปภ. จ.ภูเก็ตได้ประสานงาน และบูรณาการการทำงานอย่างใกล้ชิดกับบริษัทประกันภัยดังกล่าว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการติดต่อกับทายาทของผู้เสียชีวิตทั้ง 3 ราย โดยจะดำเนินการเร่งรัดการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์โดยเร็วต่อไป นอกจากนี้ หากตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้ประสบอุบัติเหตุมีการทำประกันภัยประเภทอื่นๆ เช่น กรมธรรม์ประกันชีวิต กรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุประเภทอื่นๆ อีกก็จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้เพิ่มเติมอีกด้วย
“สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ ทั้งนี้ อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาและทุกสถานที่ จึงควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย และขอฝากเตือนประชาชน ควรใช้ความระมัดระวัง และใช้ความรอบคอบในการทำงานหรือทำกิจกรรมใดๆ โดยเฉพาะการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สิน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งควรหมั่นตรวจสอบวันหมดอายุกรมธรรม์ประกันภัยที่ทำไว้ ตลอดจนควรทำประกันภัยคุ้มครองความเสี่ยงต่างๆ และประกันชีวิตด้วย เพื่อที่ระบบประกันภัยจะได้เข้าไปช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันภัยสามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าว.