“สมคิด-อุตตม” ลั่น! ไม่ก้าวก่าย-ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
รองนายกฯ-รมว.คลังจาก พปชร. ประสานเสียง ย้ำ “รมต.ต่างพรรค” ทำงานร่วมกันภายใต้กรอบนโยบายรัฐบาล ยืนยัน “ไม่ต่างคนต่างทำ” ระบุ กระทรวงการคลังรับผิดชอบงานของตัวเอง ไม่คิดก้าวก่ายข้ามพรรค เผยสนใจความคืบหน้ามาตรการไหน กระทรวงการใด สอบถามเจ้ากระทรวงโดยตรง
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี 62 ว่า รัฐบาลพร้อมจะดูแลภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในส่วนของกระทรวงการคลังจะดูแลเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องและอยู่ในความรับผิดชอบ เช่น มาตรการด้านค่าครองชีพและกระตุ้นการใช้จ่ายภาคประชาชน การเบิกจ่ายเพื่อการลงทุนของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจในสังกัด ฯลฯ ทั้งนี้ แม้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะคอยมอนิเตอร์ภาพรวมเศรษฐกิจในมิติต่างๆ ให้กับกระทรวงการคลัง แต่ไม่มีหน้าที่มอนิเตอร์การขับเคลื่อนมาตรการและโครงการของกระทรวงอื่นๆ เป็นสิ่งที่แต่ละกระทรวงจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเอง ทั้งนี้ หากต้องการจะทราบความคืบหน้าหรือความเป็นไปของมาตรการต่างๆ ที่อยู่นอกเหนือจากกระทรวงการคลัง จะต้องไปสอบถามเอากับเจ้ากระทรวงนั้นๆ เอง
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยืนยันว่า แม้การทำงานของแต่ละกระทรวงจะอยู่ภายใต้กรอบความรับผิดชอบของตนเอง แต่ยังคงยึดโยงกับนโยบายหลักของรัฐบาล และมีเป้าหมายเดียวกัน คือการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจให้ก้าวเดินไปข้างหน้า ไม่ได้ขัดแย้งหรือแบ่งแยกการทำงานแต่อย่างใด ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า มาตรการและโครงการของแต่ละกระทรวงที่ออกมาในช่วงนี้ ดูเหมือนรัฐมนตรีจากต่างพรรคฯ จะทำงานลักษณะต่างคนต่างทำ และไม่มีความเป็นเอกภาพนั้น รองนายกฯสมคิด ย้ำว่า ทุกคนต้องเดินไปตามกรอบนโยบายเดียวกัน ในส่วนของตน มีหน้าที่ติดตามการดำเนินงานของกระทรวงการคลังและกระทรวงอื่นๆ ที่รับผิดชอบตามที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น นอกเหนือจากนี้ เป็นหน้าที่ของรองนายกฯและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องจะเป็นผู้ตอบคำถามเอง ไม่ใช่หน้าที่ของตนหรือกระทรวงการคลัง
“ก่อนหน้านี้ เศรษฐกิจมันขับเคลื่อนไปได้ทั้ง 4 ขา แต่ตอนนี้ มันมีขาเดียว (การลงทุนภาครัฐ) ส่วนขาอื่นๆ ก็เป็นอย่างที่เห็นกัน โดยเฉพาะด้านการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกทั้งสิ้น” นายสมคิดกล่าว
ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวเสริมว่า ช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ รัฐบาลและกระทรวงการคลังต่างก็เฝ้าติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด และพร้อมจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นออกมา แต่ทุกอย่างต้องมีขั้นตอน หากมีความคืบหน้าที่ชัดเจน ตนก็พร้อมจะชี้แจง และนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างแน่นอน
ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่า มาตรการระยะสั้นต่างๆ ที่ออกมาก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะการใช้จ่ายเงินผ่าน “กระเป๋า” ของมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ทั้ง 3 เฟส ไม่ประสบความสำเร็จ แม้จะมีแรงจูงใจคืนเงิน (Cash Back) 15% กับวงเงินไม่เกิน 30,000 บาท และ 20% กับวงเงิน 30,001 – 50,0000 บาทนั้น รมว.คลัง กล่าวว่า ขึ้นกับมุมมองของแต่ละคน แต่ตนเชื่อว่าข้อดีของมาตรการ “ชิมช้อปใช้” คือ กระตุ้นการตื่นตัวและการใช้จ่ายเงินของประชาชน ทั้งนี้ จำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันผลักดันมาตรการและโครงการต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง หากปล่อยเฉยโดยไม่กระทำอะไรเลย จะกลายเป็นการเพิ่มความไม่เชื่อมั่นและสร้างความหดหู่ในทางเศรษฐกิจแก่คนในประเทศมากยิ่งขึ้น
“รัฐบาลและกระทรวงต่างๆ ทำงานและเดินไปด้วยกัน ในส่วนของกระทรวงการคลัง ก็พร้อมจะทำงานภายใต้ขอบเขตความรับผิดชอบและหน้าที่ของเราอยู่แล้ว ส่วนการทำงานของกระทรวงอื่นๆ เป็นหน้าที่ที่จะต้องไปสอบถามกันเอง” รมว.คลังย้ำ.