“รัฐบาล”ปะทะ “ชาวเน็ต” ปลุกกระแสต้าน “พรบ.คอมฯ”
4 เว็บไซต์หลักของหน่วยงานรัฐบาล ทำเนียบรัฐบาล สํานักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ราชกิจจานุเบกษา และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ พร้อมใจกัน “ล่ม” ในวันเดียวกันโดยไม่ทราบสาเหตุ
เหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นตลอดทั้งวันของวันที่ 19 ธันวาคม ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าเกิดขึ้นหลังจากกลุ่มต่อต้านซิงเกิลเกตเวย์นัดแสดงพลังต่อต้านพระราชบัญญัติว่าด้วยกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ และได้ประกาศแฮ็กเว็บไซต์ของกระทรวงกลาโหม
จากการสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่สำนักโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับการยืนยันว่าสามารถเปิดใช้งานได้ตามปกติ แต่จากการตรวจสอบของสื่อมวลชนซึ่งพยายามเข้าเว็บไซต์หลายครั้ง ปรากฏว่าไม่สามารถเข้าใช้งานได้ และจากการสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ระบุว่า เว็บฯ มีปัญหาตั้งแต่ช่วงเช้าแล้ว ซึ่งอยู่ในระหว่างการปรับปรุงแก้ไขอยู่
ซึ่งปัญหาการ “แฮ็กเว็บ” เกิดขึ้นหลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติเห็นชอบผ่านร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับใหม่ ด้วยคะแนน 168 ต่อ 0 งดออกเสียง 5 เสียง เป็นเหตุให้กลุ่มต่อต้านรวมตัวเคลื่อนไหวที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ เพื่อคัดค้านกฎหมาย เนื่องจากเห็นว่าเป็นการลิดรอนสิทธิ เสรีภาพในการใช้อินเตอร์เน็ตของคนไทย เพราะเจ้าหน้าที่รัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลประชาชนได้ทั้งหมด
ร้อนถึง “บิ๊กตู” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ออกมายืนยันว่า “พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ออกมาเพื่อปกป้องป้องกันปัญหาก่อการร้าย แฮกเกอร์ ฉ้อโกง ขออย่าบิดเบือนกันและถ้าทุกคนเข้าใจว่ากฎหมายเขียนมาเพื่ออะไรใครจะต้องถูกดำเนินคดี ซึ่งไม่ใช่ทุกคนและไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะไปล้วงความลับจากใครได้ทุกคน ต้องมีเหตุผล และหากปลุกระดม โดยผิดกฎหมายก็จะต้องดำเนินการ”
ด้าน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บอกว่า รัฐบาลขอเตือนว่า การรวมตัวดังกล่าวอาจเข้าข่ายการสร้างความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมือง จึงขอให้ผู้ที่จะไปร่วมกิจกรรมไตร่ตรองให้รอบคอบ หรือยุติการเคลื่อนไหว เพราะทางการมีมาตรการรองรับหากมีการเคลื่อนไหว ตั้งแต่การบันทึกภาพเป็นหลักฐานและดำเนินการตามหลักสากล
พร้อมกันนี้ “พล.ท.สรรเสริญ” ยังยืนยันอีกว่า “เว็บไซต์ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.)ไม่ได้ถูกแฮ็กตามที่มีกระแสข่าว เช่นเดียวกับกรมศุลกากร หน่วยงานความมั่นคง ท่าอากาศยาน และสายการบินต่าง ๆ เป็นเพียงการสร้างข่าวความสับสนให้กับสังคม และลดทอนความน่าเชื่อถือของหน่วยงานราชการเท่านั้น”
ขณะที่คนวงใน อย่าง “นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายคอมพิวเตอร์” ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการวิสามัญพิจารณา พรบ.คอมพิวเตอร์ ยืนยันว่า ” ร่าง พรบ.หลังจากมีการปรับแก้ไขจากวาระที่ 1 ของสนช.แล้ว ไม่มีประเด็นอะไรที่หลายฝ่ายกังวล รวมทั้งไม่มีการเขียนถึงซิงเกิลเกตเวย์ตั้งแต่แรกจนถึงการลงมติก็ไม่มีการเขียนถึง อย่างไรก็ตาม 10 ปีที่ผ่านมา พรบ.ที่มีการร่างตั้งแต่ปี 2549 ถึง 2559 ร่างตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีเฟซบุค ยังไม่มีโซเชียลมีเดียร์ ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปเยอะ กฎหมายก็เลยต้องครอบคลุมถึงโซเชียลมีเดียร์มากขึ้นด้วย”
“ยืนยันว่าไม่มีเรื่องซิงเกิลเกตเวย์ เพราะทุกมาตราไม่มีเรื่องของการทำซิงเกิลเกตเวย์เลย ถ้ารัฐบาลทำเรื่องซิงเกิลเกตเวย์ตามที่เป็นข่าว รัฐบาลทำผิดพรบ.คอมพิวเตอร์ ผิดเรื่องการเข้าถึงคอมพิวเตอร์ ดังนั้นไม่มีเรื่องซิงเกิลเกตเวย์”
แต่คงมีคำถามว่าแล้ว “ซิงเกิลเกตเวย์” อยู่ตรงไหน ซึ่ง นายไพบูลย์ ตอบแบบไม่ฟันธง แต่น่าสนใจว่า “พรบ.ว่าด้วยความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ น่ากลัวกว่าพรบ.คอมพิวเตอร์ เพราะเป็นเรื่องว่าด้วยความปลอดภัยไซเบอร์ เป็นสิ่งที่ไม่น่ากังวลกันเลย ชาวเน็ตบางทีต้องฟังหูไว้หู บางทีเราฟังจนน่ากลัวไปหมดเลย”
ซึ่งตอนนี้ ร่างพรบ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ที่ในระยะเวลาไม่ใกล้ไม่ไกลนี้ คงเข้าพิจารณาในสนช.ตามขั้นตอนต่อไป