คลังลุยเอกชนรักษาพยาบาลราชการ
![](https://aec10news.com/wp-content/uploads/2019/05/67c499f4c9b6eb807dc5b4849abc56a6_XL.jpg)
“อภิศักดิ์” ลั่นหน้าหารือบริษัทประกันเอกชนเข้ามาดูแลเรื่องรักษาพยาบาลข้าราชการ แม้นายกรัฐมนตรีจะสั่งให้ชะลอโครงการก็ตาม แต่ รมว.คลัง ย้ำต้องชี้ประเด็นให้ทุกฝ่ายมีความเห็นร่วมกันเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาระยะยาว
“ คลังจะยังคงศึกษาเรื่องการมอบภาระทางด้านรักษาพยาบาลให้แก่บริษัทประกันเอกชนดำเนินการต่อไป แม้นายกรัฐมนตรีจะสั่งให้ชะลอเรื่องนี้ก็ตาม ” นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวและกล่าวว่า
กระทรวงการคลังได้ศึกษาเรื่องนี้ มานานแล้ว และเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เรากำลังจะผลักดันให้เป็นประเด็น เพื่อให้ทุกคนรับทราบปัญหาของเรื่องนี้ เนื่องจากการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกๆ ปีจากงบประมาณ ที่ตั้งเอาไว้ประมาณ 60,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ2559 มียอดขอเบิกสูงถึง 71,000 ล้านบาท
“ สิ่งเราดำเนินการคือ ต้องการให้ทุกฝ่ายรับทราบปัญหาตั้งแต่ต้นทาง ”
“ บริษัทประกันนั้น ไม่อยากยุ่งกับเรื่องนี้ ซึ่งอาจจะมองว่าผลตอบแทนไม่คุ้มค่า แต่ปลัดกระทรวงการคลัง (สมชัย สัจจพงษ์) บอกกับบริษัทประกันว่า ควรที่มีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคมด้วย จึงกลายเป็นประเด็นที่เราหารือร่วมกัน ซึ่งขณะนี้ บริษัทประกันกำลังทำตัวเลขและพร้อมที่จะเสนอให้กระทรวงการคลังในเดือนก.พ.ปีหน้า ” รมว.คลัง กล่าว และยอมรับว่า
ขณะนี้ เกิดกระแสต่อต้านจากข้าราชการบางกลุ่ม ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังที่ต้องชี้แจงและหารือร่วมกันต่อไป เนื่องจากข้าราชการกลัวว่า เมื่อหมดวงเงินในประกันแล้ว จะต้องจ่ายเงินเพิ่ม ซึ่งประเด็นนี้ เป็นเรื่องที่เข้าใจผิดอย่างมาก เพราะกรมบัญชีกลางเป็นผู้ทำประกันกับบริษัทประกัน ไม่ใช่ให้ข้าราชการทำประกันแบบตัวต่อตัวกับบริษัทประกัน ดังนั้น สิทธิในการรักษาพยาบาลของข้าราชการจะยังคงเหลือเดิมทุกประการ
“ งบประมาณด้านการรักษาที่เพิ่มขึ้นทุกปีมาจากหลายสาเหตุ แต่สิ่งที่กระทรวงการคลังพยายามชี้ให้เห็นคืองบรักษาพยาบาลที่มีการรั่วไหลนั้น เนื่องจากกรมบัญชีกลางมีฐานะเป็นผู้จ่ายเงินตามใบเสร็จของโรงพยาบาล โดยมีแพทย์ระบุค่ารักษาพยาบาล ทำให้กรมบัญชีกลางแถบจะไม่มีสิทธิ์ที่จะโต้แย้งเรื่องความเหมาะสมเลย เนื่องจากไม่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการรักษาพยาบาลเท่ากับแพทย์ กระทรวงการคลังจึงคิดว่า ควรจะหาคนกลางที่มีความรู้เรื่องนี้มาควบคุมค่ารักษาพยาบาล ซึ่งไม่ใช่การตัดสิทธิ์ หรือลดการรักษาพยาบาลของข้าราชการ “