ครม.ไฟเขียวช้อปช่วยชาติ
ครม.จัดหนักคลอดมาตรการช้อปช่วยชาติ เริ่มตั้งแต่วันที่ 14-31 ธ.ค.59 หวังกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นช่วงท้ายปี ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2560 เพราะมีงบลงทุนหลายแสนล้านบาทรออยู่แล้ว
“ จากสัญญาณการชะลอตัวด้านการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนซึ่งเห็นได้ชัดในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.59 ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปีเพื่อรักษาความสมดุลในส่วนของการบริโภค ” นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวหลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2559 และระบุว่า ครม.ได้อนุมัติมาตรการช้อปช่วยชาติ โดยผู้มีเงินได้สามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้ามาหักค่าลดหย่อนได้ ในวงเงินไม่เกิน 15,000 บาท.
นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 ยังจะมีเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับกลุ่มจังหวัด ซึ่งเป็นการทำงบประมาณกลางปีงบประมาณ 2560 เพิ่มเติมอีกกว่า 160,000 ล้านบาท เพื่อนำมาพัฒนาศักยภาพของแต่ละกลุ่มจังหวัดที่มีอยู่ทั้งหมด 18 กลุ่มจังหวัดทั่วประเทศ กลุ่มจังหวัดละประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท รมว.คลัง กล่าว
ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวหลังการประชุม ครม. กระทรวงการคลังได้เสนอให้มาตรการยกเว้นภาษีให้ผู้ที่สำหรับการซื้อสินค้าและค่าบริการ ในช่วงวันที่ 14-31 ธ.ค. 59 ตามจำนวนจ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยสามารถนำใบกำกับภาษีจากผู้ประกอบการมาหักภาษีเงินได้
“ ในปีนี้ กระทรวงการคลังได้เสนอเพิ่มจำนวนวันภายใต้มาตรการดังกล่าวเป็น 18 วัน จากปีที่แล้ว 7 วัน พร้อมทั้งระบุสิ่งที่ซื้อและสามารถได้รับสิทธิจากมาตรการดังกล่าว โดยไม่นับรวมค่าสุรา เบียร์ ไวน์ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ น้ำมัน ก๊าซ และไม่รวมค่าบริการที่จ่ายให้ผู้ประกอบการเป็นค่านำเที่ยว มัคคุเทศน์ ค่าที่พัก โรงแรม เนื่องจากได้มีการยกเว้นไปแล้วสำหรับมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว หักลดหย่อนในเดือนธ.ค.ได้ถึง 30,000 บาท ”
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อปลายปี ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ และช่วยบรรเทาภาระภาษีใหกับประชาชน อีกทั้งกระตุ้นกำลังซื้อ ขณะที่ในระยะยาว เป็นการจูงใจผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษี ซึ่งเป็นการขยายฐานภาษีที่จะช่วยเพิ่มการจัดเก็บภาษีให้กับรัฐบาลต่อไป
” ปีที่แล้ว มีคนใช้ประมาณ 1 ล้านคน เม็ดเงินลดภาษีประมาณ 1,200 ล้านบาท มียอดขายเกือบหมื่นล้านบาท เนื่องจากปีที่แล้วมีเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ส่วนปีนี้คาดว่าจะมีคนใช้ 2 ล้านคน เม็ดเงินประมาณ 20,000 ล้านบาท ช่วยประชาชนในช่วงปลายปีให้เกิดความคึกคัก ถือเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้านหนึ่ง “ นายกอบศักดิ์ กล่าว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดแรงส่งของมาตรการช้อปช่วยชาติจะส่งผลต่อเม็ดเงินที่สะพัดในกลุ่มธุรกิจค้าปลีก ร้านอาหารและธุรกิจบริการอื่นๆ สูงกว่ามาตรการที่ออกมากระตุ้นครั้งก่อน โดยพิจารณาจากการขยายกรอบเวลาของการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น โดยจากการสำรวจพบว่ามาตรการช้อปช่วยชาติ 15,000 บาทในปี 2559 ค่อนข้างได้รับความสนใจจากประชาชนที่ต้องเสียภาษีมากกว่าปีที่ผ่านมา สะท้อนได้จากประชาชนกว่า 60.0% ของผู้ที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมดมีการวางแผนที่จะซื้อสินค้าและบริการในช่วงวันที่ 14-31 ธ.ค.2559 เพื่อต้องการใช้สิทธิจากมาตรการดังกล่าวมาทำการลดหย่อนภาษีเพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้ว
นอกจากนี้ จากการที่ปีนี้มีการรับรู้ข่าวสารล่วงหน้าและด้วยระยะเวลาในการใช้สิทธิที่นานขึ้น (เป็นระยะเวลาเกือบ 3 สัปดาห์จากเดิมปีที่แล้วเพียง 1 สัปดาห์) ทำให้มีเวลาเตรียมตัวและวางแผนการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการที่นานขึ้น ซึ่งน่าจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคนที่จะใช้สิทธิ ไม่ว่าจะเป็นความสะดวกในการเลือกซื้อสินค้าและบริการที่ไม่ต้องเร่งรีบเมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่มีระยะเวลาในการใช้จ่ายที่ค่อนข้างสั้นและกะทันหัน การเข้าแถวต่อคิวเพื่อรับใบกำกับภาษีที่น่าจะสะดวกรวดเร็วขึ้นไม่ต้องต่อคิวรอนาน
อย่างไรก็ตาม ในจำนวนนั้นผู้ที่สิทธิดังกล่าวมีเพียง 34% ที่ใช้สิทธิเต็มจำนวน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลจากมาตรการช้อปช่วยชาติที่ออกมาในช่วงระหว่างวันที่ 14-31 ธ.ค.2559 น่าจะกระตุ้นการใช้จ่ายซื้อสินค้าของประชาชนคิดเป็นเม็ดเงินที่กระจายไปสู่ธุรกิจค้าปลีก ร้านอาหาร และธุรกิจบริการอื่นๆ ประมาณ 13,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าในร้านค้าปลีกและบริการทั่วไปรวม 12,000 ล้านบาท และการรับประทานอาหารที่ร้านอาหาร 1,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ เม็ดเงินดังกล่าวคำนวณโดยให้น้ำหนักกับกลุ่มผู้บริโภคที่มีความสามารถในการใช้จ่ายที่คาดว่าจะซื้อสินค้าและบริการในวงเงินตามที่ภาครัฐกำหนดและใช้สิทธิลดหย่อนภาษีค่อนข้างเต็มที่ ในขณะที่มีกลุ่มผู้บริโภคอีกส่วนหนึ่งที่อาจจะไม่สามารถใช้สิทธิได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากมีรายได้ต่อเดือน หรือมีเงินออมที่ไม่สูงนัก จึงทำให้มีเม็ดเงินสำหรับนำมาใช้จ่ายและลดหย่อนภาษีตามมาตรการนี้ได้จำกัดกว่า
มาตรการดังกล่าวจึงน่าจะเป็นโอกาสให้กับบรรดาผู้ประกอบการค้าปลีก (ที่จดทะเบียนอยู่ในระบบและสามารถออกใบกำกับภาษีได้) เช่น ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าเฉพาะที่อยู่นอกห้างฯ (อาทิ ร้านเฟอร์นิเจอร์ ศูนย์จำหน่ายประดับยนต์) รวมถึงร้านอาหารโดยเฉพาะ เช่น ร้านอาหาร ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารในโรงแรม และภัตตาคาร รวมถึงธุรกิจบริการอื่นๆ อาศัยช่วงเวลาดังกล่าวในการเพิ่มยอดขายให้กับธุรกิจ
ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรมีการเตรียมความพร้อมทางด้านต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่คาดว่าจะเข้ามาจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าและรับประทานอาหารนอกบ้านในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าช่วงปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมจุดให้บริการออกใบกำกับภาษีที่สะดวกรวดเร็ว ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่เห็นได้ชัดถึงความไม่พร้อมในเรื่องของการออกใบกำกับภาษีในปีที่แล้วที่ทำให้ลูกค้าบางส่วนตัดสินใจที่จะไม่ซื้อสินค้า เพราะต้องต่อแถวยาวและรอคิวนาน หรือแม้แต่การบริหารจัดการสต็อกสินค้าให้เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า
นอกจากนี้ ยังมองว่าผลจากมาตรการดังกล่าวก็น่าจะทำให้กลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีก ร้านอาหารและธุรกิจบริการบางส่วนที่ไม่ได้จดทะเบียน หรืออยู่นอกระบบ เช่น ผู้ประกอบการค้าปลีกและร้านอาหาร SMEs หรือผู้ประกอบการ e-Commerce ตระหนักถึงโอกาสและข้อได้เปรียบดังกล่าวก็อาจจะนำมาซึ่งการดึงกลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้ให้เข้าสู่ระบบได้เพิ่มขึ้น.