ดัชนีความเชื่อมั่นทรุด2เดือนติด
ม.หอการค้าไทย เผยความเชื่อมั่นผู้บริโภค พ.ย. ทุกรายการลดต่อเดือนที่ 2 ติดต่อกัน (ต.ค.-พ.ย.59) “ ธนวรรธน์ ” ชี้เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นไตรมาส 1 ปีหน้า หากรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีนี้ได้ผลดี
“การบริโภคของประชาชนยังฟื้นตัวไม่มากนักในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เนื่องจากผู้บริโภคยังระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยเพราะมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปัจจุบันและในอนาคต” นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงข่าวเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.59 พร้อมระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ในเดือนพ.ย. 59 อยู่ที่ 72.3 จาก 73.1 ในเดือน ต.ค.59 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 61.2 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 66.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 88.8
โดยมีปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ คาดการณ์ GDP ปี 59 โต 3.2% ปรับลดลงไป 0.1% จากเดิมที่คาดไว้ 3.3%, ส่งออกเดือนต.ค.ลดลง 4.22% ซึ่งเป็นการกลับมาติดลบอีกครั้งในรอบ 2 เดือน, ราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ, ความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่ นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และความกังวลต่อสถานการน้ำท่วมในบางพื้นที่
ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ สภาพัฒน์ เปิดเผย GDP ไตรมาส 3/59 ขยายตัว 3.2%, รัฐบาลมีนโยบายดูแลราคาข้าว, การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50%, เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อย และราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า จากการสอบถามประชาชนและนักธุรกิจจากหอการค้าทั่วประเทศ พบว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณของการชะลอตัวลง จากที่ก่อนหน้านี้เคยมองว่าเศรษฐกิจอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวและยังฟื้นตัวช้า แต่ขณะนี้สัญญาณที่ออกมากลับพบว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอตัวลง และยังไม่มีสัญญาณที่จะฟื้นตัวได้อย่างโดดเด่น
โดยคาดว่าไตรมาส 4 ปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะโตได้ 3.0% ซึ่งจะเห็นว่าหลายหน่วยงานต่างประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้น้อยกว่าที่คาด คือ เติบโตเหลือ 3.2% จากเดิมที่มองไว้ 3.3% ในขณะที่ ม.หอการค้าไทย เองคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้ 3.2% ส่วนในปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี60 เป็นต้นไป ถ้าสถาน การณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกคลี่คลายลง และประสิทธิภาพของการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง
“ ในช่วงเดือน ธ.ค. นี้จะเป็นช่วงที่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทยอยออกมา เช่น การดูแลราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าว ซึ่งเม็ดเงินนี้ได้เริ่มมีการโอนให้เกษตรกรบ้างแล้ว ดังนั้นวงเงินนี้น่าจะเข้ามาหมุนในระบบเศรษฐกิจในเดือนนี้ได้ราว 10,000-20,000 ล้านบาท รวมทั้งมาตรการช้อปช่วยชาติและมาตรการเที่ยวช่วยชาติ ซึ่งคาดว่าเม็ดเงินในส่วนของการท่อง เที่ยวจะเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 5,000-10,000 ล้านบาท ส่วนมาตรการช็อปช่วยชาติ หากให้หักลดหย่อนได้ 15,000 บาท จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีก 10,000-20,000 ล้านบาท แต่หากให้ลดหย่อนได้ 30,000 บาท จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีก 25,000-35,000 ล้านบาท “
” ภาคเอกชนมองว่า ถ้ารัฐบาลต้องการจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีที่บรรยากาศซึมตัว ก็ควรให้วงเงินลดหย่อนจากมาตรการช้อปช่วยชาติเป็น 30,000 บาท เพราะมองว่าจะเป็นประโยชน์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยบรรยากาศของการจับจ่ายใช้สอยภายในระยะเวลา 15 วันก่อนสิ้นปีได้มากกว่า แต่ทั้งนี้ คงต้องขึ้นกับรัฐบาลว่าวงเงินที่เหมาะสมจะออกมาที่เท่าไร ” นายธนวรรธน์ กล่าว
อย่างไรก็ดี เมื่อรวมทุกมาตรการของรัฐบาลที่ออกมาในช่วงปลายปีแล้ว จะมีเม็ดเงินลงมาหมุนในระบบเศรษฐกิจรวมทั้ง หมดประมาณ 50,000-80,000 ล้านบาท
นายธนวรรธน์ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้จะขยายตัวได้ 3.0-3.3% ทั้งนี้สิ่งที่ ม.หอการค้าไทยยังคงเป็นห่วงคือ การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่องกัน 2 เดือน และภาคเอกชนและประชาชนมองว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่มีสัญญาณของการฟื้นตัว ประกอบกับบรรยากาศการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยยังไม่เห็นภาพชัดเจน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อทำให้บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยในช่วงปีใหม่ และไตรมาส 1/60 กลับมาโดดเด่นได้อย่างรวดเร็ว
” การกระจายเงินโอนตามโครงการภาครัฐประมาณ 1 หมื่นล้านบาท รวมทั้งการเร่งให้รัฐวิสาหกิจเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน การอนเงินให้ 18 กลุ่มจังหวัดอีกประมาณแสนล้านบาท รวมทั้งเร่งโครงการลงทุนต่างๆ ของภาครัฐให้เคลื่อนตัวได้ประมาณไตรมาสที่ 1 บรรยากาศการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจะมีแรงเหวี่ยง ทำให้ความเชื่อมั่นฟื้นกลับมาได้ในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปี ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญเพราะต้นปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะมีบรรยากาศที่ไม่โดดเด่น และไม่สดใส “ นายธนวรรธน์ กล่าว
พร้อมระบุว่า การส่งออกในปีนี้จะหดตัวราว -1 ถึง 0% ขณะที่ปีหน้ามองว่าการส่งออกจะโตได้ราว 1% เพราะบรรยากาศเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากกังวลกรณีของ ” ทรัมป์ เอฟเฟ็ค “ ว่าจะดำเนินนโยบายที่อาจจะมีผลกระทบต่อการค้าการลงทุน จึงทำให้นักลงทุนยังชะลอการลงทุนไว้ก่อน และบรรยากาศการค้ายังไม่โดดเด่นคึกคักมากนักตลอดช่วงครึ่งแรกของปี 60
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยจากต่างประเทศอีกที่สำคัญในปีหน้าที่ต้องจับตา เช่น กรณีที่อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ในเดือนมี.ค., กรณีที่อิตาลีลงมติไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ, การเลือกตั้งในฝรั่งเศส เยอรมนี และเนเธอร์ แลนด์ ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้จะทำให้เกิดความไม่ชัดเจนขึ้นในสหภาพยุโรป ทั้งความไม่ชัดเจนทางการเมือง การเงิน และความไม่แน่นอนในการคงอยู่ของสหภาพยุโรป จึงอาจจะมีผลกระทบต่อภาคการส่งออกในช่วงครึ่งแรกของปี 60 ได้ รวมทั้งกระทบไปถึงราคาน้ำมัน, สินค้าโภคภัณฑ์ และสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกว่าที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้อย่างโดดเด่นนั้นน่าจะเป็นช่วงครึ่งหลังของปี 60 เป็นต้นไป
” สัญญาณที่เริ่มรู้สึกว่าเศรษฐกิจมีการชะลอตัวลงนั้น ควรได้รับการกระตุ้นจากภาครัฐ ทั้งมาตรการกระตุ้นในระยะสั้น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องลงทุนในอัตราเร่ง เพื่อทำให้ครึ่งปีแรก (ปี 60) มีแรงเหวี่ยงในการฟื้นเศรษฐกิจ “
พร้อมมองว่า เศรษฐกิจไทยปี 60 มีโอกาสเติบโตได้ 3-4% แต่ศักยภาพที่แท้จริงน่าจะสามารถทำได้ที่ 3.5-4% โดยภาค เอกชนจะพยายามร่วมมือกับภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้บรรลุตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งหากไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้าเติบโตได้เกิน 4% ก็จะถือเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว.