ครม.คืนอำนาจกองทุนฟื้นฟูฯ
ครม.อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย เพิ่มอำนาจกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฟื้นฟูฯ) เป็นกลไกรองรับปัญหาวิกฤติทางการเงินในอนาคต
“ ธทป.และกระทรวงการคลังหารือเรื่องการสร้างความมั่นคงให้แก่สถาบันการเงินในอนาคต ภายใต้ภาวะการณ์เปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วได้อย่างไร ผลสรุปก็คือ ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นทางการต้องมีมาตรการรองรับและต้องทันท่วงทีด้วย ” นายวิรไทย สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวภายหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารแห่งประเทศไทยในการช่วยเหลือสถาบันการเงินที่ประสบภาวะวิกฤติ
ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.59 กระทรวงการคลังได้เสนอพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ฉบับดังกล่าวเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งถือเป็นการเพิ่มอำนาจให้แก่ ธปท.อีกครั้ง ในการเข้าไปช่วยเหลือสถาบันการเงิน หลังจากเกิดภาวะฟองสบู่แตกเมื่อปี2540 (วิกฤติต้มยำกุ้ง)
โดยในช่วงระหว่างนั้น ธปท.ได้ใช้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน อัดฉีดสภาพคล่องให้แก่สถาบันการเงินจนกลายเป็นหนี้ก้อนใหญ่มากกว่า 1.4 ล้านล้านบาท หลังจากที่ตั้งสั่งปิดสถานบันการเงินหลายแห่ง พร้อมกับบริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์อีก 56 แห่ง จนกลายเป็นที่มาของจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากในปัจจุบัน
ด้าน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลัก การร่าง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดกลไกในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือสถาบันการเงินที่ประสบภาวะวิกฤติทางการเงินอันอาจจะกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงิน รวมทั้งมีการเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ในการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินตามแผน แนวทาง และวิธีการที่ ครม.ได้อนุมัติ
“ แม้จะมีการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวของกระทรวงการคลังนี้ แต่ยืนยันว่าสถานะทางการเงินของประเทศไทยยังมีความแข็งแกร่ง แต่สาเหตุที่ต้องผลักดันกฎหมายนี้ออกมา เนื่องจากต้องการให้เกิดความปลอดภัยว่าเมื่อหากเกิดเหตุวิกฤติทางการเงิน เช่น วิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ขึ้นอีกในอนาคต ประเทศไทยจะมีกลไกรองรับในการแก้ปัญหานี้ได้ ”
โดยหลักการของกฎหมายนี้จะใช้กลไกของกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นหลัก คือ จะให้กองทุนฟื้นฟูฯ มีอำนาจในการเรียกเก็บเงินจากสถาบันการเงิน เพื่อนำมาช่วยเหลือสถาบันการเงินที่กำลังประสบภาวะวิกฤติ หรือได้ประสบภาวะวิกฤติแล้ว เช่น ให้กู้ยืมเงินโดยมีการตกลงรายละเอียดในเรื่องของหลักประกัน, การให้กองทุนฟื้นฟูฯ เข้าถือหุ้นสถาบันการเงินที่เกิดวิกฤติ, การแปลงหนี้เป็นทุน หรือการให้ความช่วยเหลือทางการเงินอื่นๆ
” การเรียกเก็บเงินในอัตราเท่าใดนั้น รมว.คลัง กล่าวว่า คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ จะเป็นผู้พิจารณาถึงความวิกฤติที่เกิดขึ้นกับสถาบันการเงินนั้นๆ ว่าควรจะเรียกเก็บเงินจากสถาบันการเงินอื่นๆ จำนวนเท่าใด เพื่อมาช่วยเหลือเยียวยาในส่วนนี้ แต่หากการเรียกเก็บเงินในส่วนนี้ยังไม่เพียงพอแก้ไขปัญหาได้ รัฐบาลจะต้องมีส่วนมาช่วยดูแลด้วย ”
พร้อมระบุว่า การอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยนี้ เป็นการป้องกันภาวะวิกฤตที่จะเกิดกับสถาบันการเงินในอนาคต ไม่ว่าจะก่อนเกิดวิกฤต กำลังเกิดวิกฤต หรือหลังเกิดวิกฤต ทำให้สามารถขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาได้ และขอให้อย่าตีความในแง่ลบว่าการผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมาเพราะประเทศไทยกำลังประสบอยู่ในภาวะวิกฤตทางการเงิน ซึ่งไม่ได้เป็นเช่นนั้นแน่นอน เพราะขณะนี้สถานะทางการเงินของประเทศไทยมีความแข็งแกร่ง พล.ท.สรรเสริญ กล่าวในที่สุด
ขณะที่ นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การแก้ไข พ.ร.บ. ธปท. ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ให้มีกลไกดูแลแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจการเงินโดยรวม ซึ่งจะทำให้ระบบการเงินไทยมีกระบวนการรองรับในเรื่องนี้อย่างครบถ้วน โดยเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันไว้ล่วงหน้าในภาวะที่สถาบันการเงินไทยขณะนี้มีความเข้มแข็งและมีเสถียรภาพดี
ทั้งนี้กลไกและวิธีการนี้สอดคล้องกับหลักการสากลที่หลายประเทศได้มีการปรับกรอบกฎหมายให้รองรับการแก้ไขปัญหาภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจโลก โดยมีการจัดตั้งกองทุนเป็นเครื่องมือดำเนินการในกรณีของไทยนั้นมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินซึ่งคล้ายกับกองทุนดังกล่าวแล้ว นอกจากนี้ในประเด็นความเสียหายนั้น ร่างกฎหมายใหม่นี้ได้ให้สถาบันการเงินในระบบเป็นผู้รับภาระความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น.