คลังโอนอำนาจให้ธปท.คุมแบงก์รัฐ
กระทรวงการคลังเสนอ ครม.ให้ ธนาคารแห่งประเทศไทยออกหลักเกณฑ์ในการควบคุมและตรวจสอบการทำงานธนาคารเฉพาะกิจของรัฐบาล เพื่อเพิ่มเสถียรภาพและความมั่นใจอนาคต พร้อมเพิ่มบทลงโทษหากฝ่าฝืนคำสั่ง
“ ก่อนหน้านี้ ธปท.ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ทำหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งกระทรวงการคลังได้ออกคำสั่งมอบหมายให้ ธปท.กำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจในด้านของความมั่นคง, ด้านการกำกับนโยบาย ให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เป็นผู้ดูแล, ด้านการถือหุ้น ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เป็นผู้ดูแล ” พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวผลการประชุมคณะรัฐมน ตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา และกล่าวว่า
“ แต่การกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจในช่วงที่ผ่านมาของ ธปท.ไม่สามารถทำได้เต็มประสิทธิภาพนัก เนื่องจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะมีกฎหมายเฉพาะใช้ในการปฏิบัติ ซึ่งทำให้การดำเนินงานของ ธปท.ติดขัดในข้อกฎหมาย ดังนั้นจึงมีการขอยกร่างแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินเพิ่มเติม เพื่อให้ ธปท.สามารถกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจในด้านความมั่นคงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ”
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า ครม.จึงมีมติอนุมัติในหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธุรกิจสถาบันการเงิน ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง แต่ก็จะทำให้นักลงทุน ตลอดจนต่างชาติ มองภาพรวมของประเทศดูมีเสถียรภาพ และมีความมั่นคงว่า ประเทศไทยมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนสำหรับแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน
สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมายที่แก้ไขใหม่นี้ คือ 1.ให้ธปท. สามารถนำหลักเกณฑ์ความมั่นคงของ ธปท. มาบังคับใช้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจแทนหลักเกณฑ์ตามกฎหมายจัดตั้งสถาบันการเงินเฉพาะกิจได้ 2.กำหนดกระบวนการแก้ไขปัญหากรณีเงินกองทุนต่ำกว่าที่กำหนดและกรณีการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นที่เหมาะสมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 3.มีการกำหนดบทลงโทษกรณีมีการฝ่าฝืนหลักเกณฑ์กำกับดูแลตาม พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน ไว้ชัดเจน โดยมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 500,000 บาท แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยเมื่อมีการแก้ไข หลักเกณฑ์ต่างๆ แล้วมั่นใจว่าการกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจด้านความมั่นคงจะเป็นไปได้ด้วยดี มีธรรมาภิบาลและความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ในที่ประชุม ครม.ได้มีการหารือกันเพิ่มเติมว่า ขณะนี้การกำกับดูแลสถาบันการเงินของประเทศที่มีอยู่ 3 ส่วน คือ ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจและสหกรณ์ ซึ่ง ธปท.กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์อยู่แล้ว และเพิ่มเติมการกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจในแง่ของความมั่นคงนั้น ซึ่งในส่วนของสหกรณ์ที่เป็นสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้การกำกับของกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปัจจุบันมีแนวทางในการพัฒนาสหกรณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ดังนั้นจึงมีการเร่งรัดให้กระทรวงการคลังเสนอเรื่องต่อที่ประชุม ครม.เพื่อให้มีการกำกับดูแลสหกรณ์ให้มีมาตรฐานที่ใกล้เคียงกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจด้วย