กรมศุลฯ ไม่ปล่อยรถเมล์เอ็นจีวีร้อยคัน
คณะทำงานจากส่วนกลางที่อธิบดีกรมศุลกากรตั้งขึ้น พ่นพิษ ไม่ปล่อยรถเมล์เอ็นจีวี 100 คัน ที่นำเข้าจากมาเลเซีย เพราะแท้ที่จริงเป็นรถเมล์ที่ผลิตจากจีน หวังรับสิทธิประโยชน์ภาษีอาเซียน
“ รถเมล์ทั้งหมด 100 คันนำเข้าโดยบริษัท ซุปเปอร์ ซาร่า ซึ่งขณะนี้ ยังไม่ถือว่า ถูกจับกุมหรือถูกอายัด แต่กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบนำเข้าทั้งหมดว่า มีการสำแดงถิ่นกำหนดของสินค้าเป็นเท็จหรือไม่ เนื่องจากเจ้าหน้าตรวจพบความผิดปกติ จึงยังไม่มีการตรวจปล่อยรถเมล์ยี่ห้อดังกล่าว ออกจากท่าเรือแหลมฉบัง ” นายชัยยุทธ คำคุณ รองอธิบดีกรมศุลกากรในฐานะโฆษกกรมศุลกากร แถลงข่าวเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา พร้อมกับระบุว่า
โดยรถเมล์ที่นำเข้าจากบริษัทดังกล่าว มีการนำเข้ามาในประเทศไทยทั้งหมด 2 ครั้ง ครั้งแรกนำเข้ามาเพียง 1 คัน โดยถูกส่งมาจากประเทศจีนตั้งแต่วันที่ 28 ต.ค.59 บรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์แล้วเดินทางถึงมาท่าเรือของประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 9 พ.ย. และเดินทางออกจากท่าเรือมาเลเซียวันที่ 23 พ.ย.ถึงไทยในวันที่ 30 พ.ย.59 โดยรถเมล์ที่ส่งมาทั้งคันนั้น ก็ยังบรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ตู้เหมือนเดิมทุกประการ แต่บริษัทผู้นำเข้าระบุในใบขนสินค้าว่า เป็นรถเมล์ที่ผลิต หรือถิ่นกำ เนิดจากประเทศมาเลเซีย
และในเวลาต่อมานำเข้ามาอีก 99 คัน รวมเป็นรถเมล์เอ็นจีวีที่มีการนำเข้ามามีทั้งหมด 100 คัน รถเมล์เอ็นจีวีทั้งหมด ยี่ห้อ “ SUNLONG ” หรือ “ ซันลอง ” ของประเทศจีน
นายชัยยุทธ กล่าวว่า ประเด็นที่เจ้าหน้าสงสัยคือ รถเมล์ที่มาพร้อมกับตู้คอนเทนเนอร์นั้น เป็นรถเมล์ที่ผลิตจากประเทศจีน ไม่ใช่ผลิตที่มาเลเซีย เพราะในระหว่างการเดินทางไม่มีการเปิดตู้หรือเปลี่ยนตู้คอนเทนเนอร์ นอกจากนี้ ในใบขนส่งสินค้าของรถเมล์เอ็นจีวี ที่มาถึงท่าเรือแหลงฉบัง ยังระบุว่าเป็นรถที่มีถิ่นกำเนิดหรือผลิตจากมาเลเซีย (ฟอร์มD) ซึ่งหากเป็นรถ ยนต์ที่ผลิตจากมาเลเซียจริง จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีศุลกากรในอัตรา 40% ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน
แต่ในกรณีนี้ รถเมล์ยังอยู่ในตู้คอนเทรเนอร์ตลอดระยะเวลาของการเดินทางจนถึงไทย ทำให้รถเมล์คันดังกล่าวไม่มีการต่อเติมหรือเพิ่มมูลค่าในตัวสินค้าตามข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียนที่จะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า โดยข้อตกลงของอาเซียนระบุว่า หากสินค้าใดที่ผลิตหรือเพิ่มมูลค่าเพิ่มในอาเซียนคิดเป็นในสัดส่วน 40% ถือว่า เป็นสินค้าที่ผลิตจากประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยรถที่นำเข้าจะไม่มีภาระภาษี ซึ่งจะทำให้ผู้ นำเข้าไม่ต้องเสียภาษีให้รัฐบาลไทยคันละ 1.2 ล้านบาท
นายชัยยุทธ กล่าวว่าในระหว่างนี้ กรมศุลกากรจะเชิญบริษัทผู้นำเข้ามาชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งหมด เพื่อตรวจสอบเอกสารและความถูกต้อง โดยเฉพาะเอกสารฟอร์มD จากทางการมาเลเซียนั้น ขณะนี้ กำลังรอการยืนยันจากทางการมาเลเซียว่า เป็นเอกสารจริงหรือปลอม แต่ในเบื้องต้นเอกสารฟอร์มD เป็นเอกสารจริง นอกจากนี้ จะส่งเจ้าหน้าที่ศุลกากรไปตรวจสอบว่า ที่มาเลเซียด้วยว่า มีโรงงานผลิตหรือโรงงานดัดแปลงรถเมล์ยี่ห้อ “ ซันลอง ” อยู่จริงหรือไม่ เพื่อนำมาเป็นประกอบเอกสารและหลักฐานต่างๆ ส่วนกรณี บริษัท ซุปเปอร์ ซาร่า เกี่ยวข้องกับบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ในฐานะผู้ชนะการประมูลหรือไม่ ทางกรมศุลกากรไม่ทราบความสัมพันธ์ของทั้ง 2 บริษัท
“ การไม่อนุมัตินำรถเมล์ออกจากท่าเรือแหลงฉบังนั้น กรมฯ ไม่ได้หวังผลเรื่องสินบนนำจับ เนื่องจากเป็นการตรวจสอบงานด้านเอกสารตามปกติ และในกรณีนี้ ไม่มีเงินรางวัลนำจับด้วย ส่วนผู้ประกอบการจะขอวางเงินประกันสินค้าเพื่อนำรถเมล์ออกจากท่าเรือก็สามารถทำได้ แต่ยังไม่ได้คำนวณเงินที่ต้องวางประกัน ส่วนความผิดกรณีตรวจพบว่า มีการสำแดงสินค้านำเข้าในราชอาณาจักรไม่ถูกต้อง มีความผิดถูกปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาบวกอากรที่ขาด แต่ถ้าเจรจาและยอมความกันต้องเสียค่าปรับ 2 เท่าของอากรที่ขาด คิดเป็นมูลค่าประมาณ 300-400 ล้านบาท “ .