เอกชนประกาศ “ปฏิญญาอยุธยา”
สภาหอการค้าฯ พร้อมใจประกาศ “ปฏิญญาอยุธยา” เสนอรัฐบาลเพื่อประสานความร่วมมือรัฐและเอกชน ลุยเศรษฐกิจปี 60 ขับเคลื่อนสู่ยุค 4.0
“ ปฏิญญาอยุธยา จะช่วยผลักดันให้มูลค่าการค้า และบริการของประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกอย่างน้อย ไม่ต่ำกว่าปีละ 50,000-100,000 ล้านบาท หรือช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 0.4-0.7% และช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยปี 60 เติบโตได้ที่ระดับ 4.0%” นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว ในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ที่จังหวัดพระนครศรี อยุธยา เมื่อวันที่ 26 พ.ย.59
สภาหอการค้าไทย ได้จัดประชุมสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศปีละ 1 ครั้ง โดยในครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 34 ซึ่งภายหลังจากการสัมมนาเสร็จสิ้น สภาฯ จะทำหนังสือสมุดปกขาวเสนอต่อรัฐบาล ภายใต้ชื่อประกาศ “ปฏิญญาอยุธยา” เพื่อสานพลังความร่วมมือตามแนวทางประชารัฐ ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมยก ระดับผู้ประกอบการสู่การค้าและบริการ 4.0 ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมาเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศสู่ ไทยแลนด์ 4.0
นอกจากนี้ ยังได้วาง 3 แนวทางที่จะดำเนินการในอนาคต 3 คือ 1.ร่วมมือตามแนวทางประชารัฐร่วมกับภาครัฐส่วนต่าง ๆ ทั้ง รัฐ เอกชน และประชาชน ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน 2.สนับสนุนภาครัฐในการขับเคลื่อนประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และ 3.จะลงมือทำ ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล มาใช้พัฒนากระบวนการทางธุรกิจไปสู่การค้าและบริการ 4.0 ซึ่งเป็นการค้าและบริการบนระบบอัจฉริยะ
นางเสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว ว่า ” ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยปี 59 คาดว่า จะอยู่ที่ 3.2% จากเดิมตั้งเป้าหมายอยู่ที่ 3.3% โดยคาดว่าการส่งออกจะติดลบ 0.4% อัตราเงินเฟ้อขยายตัว 0.2% ส่วนปี 60 คาดเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเพิ่มเป็น 3.6% “ นางเสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว
ส่วนในปีหน้านั้น มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยตั้งสมมติฐานว่า เศรษฐกิจโลกขยายตัว 3.4% เศรษฐกิจสหรัฐ ขยายตัว2.2% ยุโรป 1.5% ญี่ปุ่น 0.5% จีน 6.2% การลงทุนภาครัฐ ขยายตัว 10% อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.75% ราคาน้ำมันเฉลี่ยที่ 42-52 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 35.5-36 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ส่วนการส่งออกจะกลับมาขยายตัวได้ 1.4% มีมูลค่า 214,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เกินดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดขณะที่อัตราเงินเฟ้อขยายตัว 1.6%
ทั้งนี้ หากแยกเป็นรายภูมิภาค จะพบว่า ในปี 60 ภาคเหนือขยายตัว 3% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขยายตัว 2.6% ภาคกลาง รวมกรุงเทพฯ ขยายตัว 3.6% ภาคตะวันออก ขยายตัว 4.8% และภาคใต้ ขยายตัว% 2.9%
“ ในปี 60 ปัจจัยที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด จากการที่รัฐบาลช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย จะทำให้มูลค่าจีดีพีเพิ่ม ขึ้นประมาณ 40,000 ล้านบาท การปรับขึ้นค่าจ้าง จะทำให้จีดีพีเพิ่มประมาณ 45,000 ล้านบาท แต่เมื่อหักลบจากผล กระทบที่จะเกิดจากการปราบทัวร์ศูนย์เหรียญประมาณ 9,000 ล้านบาทแล้ว จะมีเงินเพิ่มเข้ามาในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกประมาณ 76,000 ล้านบาท ”