ครม.ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 5-10 บาท
ครม.ตัดสินใจปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในรอบ 4 ปี เพิ่มขึ้นตั้งแต่วันละ 5 บาท 8 บาท และสูงสุดไม่เกิน 10 บาท “ นายก ” ย้ำปรับค่าแรงเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ ไม่หวั่นเอกชนคัดค้าน
“ ครม.ได้ตัดสินใจที่จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ หลังจากไม่ได้ปรับค่าแรงมานานถึง 4 ปี นับตั้งแต่ปี2556 โดยการปรับค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้ จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2560 เป็นต้นไป ” นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าว หลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรีเสร็จสิ้น
เมื่อวันที่ 22 พ.ย.59 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของคณะกรรมการค่าจ้างประจำปี 2560 รวม 69 จังหวัด ซึ่งถือเป็นการปรับค่าจ้างขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีนับตั้งแต่ปี 2556 โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.60 เป็นต้นไป นายกอบศักดิ์ กล่าวและกล่าวว่า
“ มีเพียง 8 จังหวัดที่ไม่ได้รับการอนุมัติให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ประกอบด้วย ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราชนราธิวาส ปัตตานี ยะลา ระนองและสิงห์บุรี เนื่องจากจังหวัดเหล่านี้มีโรงงานอุตสาหกรรมในจำนวนไม่มาก ขณะเดียวกันความต้องการจะปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานไม่ได้ ซึ่งได้ถามกระทรวงแรงงานแล้ว กระทรวงฯ ชี้แจงว่าทั้ง 8 จังหวัด ไม่ได้เสนอขึ้นค่าจ้างแรงงานภายในจังหวัดเอง แสดงว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน เฉลี่ยแล้วจะทำให้ค่าจ้างแรงงานในประเทศไทยปรับเพิ่มขึ้น 1.7% ”
ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของคณะกรรมการค่าจ้าง อยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาคและการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายแล้ว เพื่อให้นายจ้างสามารถประกอบธุรกิจอยู่ได้ และลูกจ้างสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข และเชื่อมั่นว่าจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ หรือมีผลทำให้ราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูง ขึ้นจนส่งผลกระทบต่อภาวะค่าครองชีพของประชาชนโดยทั่วไป
และยังเป็นการพิจารณาจากดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิต ผลิตผลแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละจังหวัดเป็นประเด็นสำคัญในการพิจารณาขึ้นค่าแรงที่ไม่เท่ากัน
สำหรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2560 เป็นดังนี้ จังหวัดที่ได้รับการปรับขึ้นวันละ 5 บาท เป็น 305 บาท มี 49 จังหวัด ประกอบด้วย กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร จันทบุรี ชัยนาท ชัยภูมิ เชียงราย ตราด ตาก นครนายก นครพนม นครสวรรค์ น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ แพร่ มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ร้อยเอ็ด ราชบุรี ลพบุรี ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สมุทรสงคราม สระแก้ว สุโขทัย สุพรรณบุรี สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อ่างทอง อำนาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ อุทัยธานี และอุบลราชธานี
จังหวัดที่ได้รับการปรับขึ้นวันละ 8 บาท เป็น 308 บาท มี 13 จังหวัด ประกอบด้วย กระบี่ ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา ชลบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา พังงา ระยอง สงขลา สระบุรี และสุราษฎร์ธานี
จังหวัดที่ได้รับการปรับขึ้นวันละ 10 บาท เป็น 310 บาท มี 7 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ภูเก็ต สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
“ นายกรัฐมนตรี ยังได้กำชับในที่ประชุม ครม.ว่า ไม่ต้องการให้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการปรับขึ้นราคาสินค้า โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดูแล เพราะการปรับขึ้นค่าจ้างนี้ก็เพื่อต้องการเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนสามารถดำรงชีพได้ดีขึ้น ” นายกอบศักดิ์ กล่าวด้วยว่า
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า การพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้ เป็นเงินไม่มาก แต่ถือเป็นกำลังใจก่อน เนื่องจากเรายังมีเศรษฐกิจเดิมๆ อยู่ รายได้ยังเพิ่มขึ้นไม่มากนัก การจะปรับขึ้นหรืออะไรก็ตามต้องคำนึงถึงผู้ประกอบการด้วย ถ้ามองซีกเดียวก็ไปไม่ได้ทั้งหมด การทำงานต้องคำนึงถึงความสมดุลด้วย และเมื่อไปอีกสักระยะเวลาหนึ่งก็อาจจะได้เพิ่มมากขึ้นกว่านี้ แต่สิ่งที่จะได้คือ มาตรการการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ถ้าได้ลงทะเบียนไว้ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือด้วย.