รัฐทุ่ม 1.2 หมื่นล้านอุ้มคนไทยจน
ครม. เทงบ 1.2 หมื่นล้านบาท ช่วยเหลือประชาชนที่ยากจนที่สุดของประเทศ 8.5 ล้านคน รายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท รับ 3 พันบาท รายได้เกิน 3 หมื่นบาทแต่ไม่ถึง 1 แสนบาท รับ 1.5 พันบาท ปลัดคลังมั่นใจ 1 ธ.ค. เงินสดถึงมือประชาชน
เมื่อวัน 22 พ.ย.59 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เรื่อง มาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ดังนี้ สาระสำคัญของเรื่อง ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนที่มีรายได้น้อยมีสัญญาณชะลอตัว แม้ว่าในปัจจุบันรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการอย่างต่อเนื่อง แต่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจยังคงมีความเปราะบางส่งผลให้ผู้มีรายได้น้อยที่อยู่ในภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตรมีความเสี่ยงด้านรายได้เพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 ก.ย.59 ได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อยไปแล้ว ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวครอบคลุมผู้มีรายได้น้อยทั้งหมดตามโครงการ ฯ กระทรวงการคลัง จึงเห็นควรให้มีมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ใช่เกษตรกรด้วย
คุณสมบัติผู้มีสิทธิ์ เป็นบุคคลสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ณ วันที่ 15 ส.ค.59 และเป็นผู้ว่างงานหรือมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ในปี 58 โดยมีการตรวจสอบสถานะบุคคลและความถูกต้องของข้อมูลในเบื้องต้นจากกรมสรรพากร และกรมการปกครองแล้ว ทั้งนี้ ผู้ลงทะเบียนที่ตรวจสอบจากเว็บไซต์ของกรมสรรพากรแล้วไม่ปรากฏชื่อให้นำเอกสารหลักฐานที่ธนาคารผู้รับลงทะเบียนให้ไว้ไปติดต่อที่สาขาธนาคารที่ตนไปลงทะเบียนภายในวันที่ 15 ธ.ค.59 จำนวนกลุ่มเป้าหมาย ผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ใช่เกษตรกรจำนวน 5.4 ล้านคน
สำหรับเกณฑ์การช่วยเหลือ ใช้เส้นทางความยากจนที่คำนวณโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นเกณฑ์ โดยกำหนดอัตราเงินช่วยเหลือ ซึ่งมีจำนวนผู้มีสิทธิ์และวงเงินงบประมาณที่ใช้ ดังนี้ 1.ผู้ที่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี อัตราเงินช่วยเหลือ (ให้เพียงครั้งเดียว) 3,000 บาท ประมาณการจำนวนผู้มีสิทธิ์ 3.1 ล้านคน ประมาณการวงเงินที่ใช้ 9,300 ล้านบาท
ผู้มีรายได้ตั้งแต่ 30,001 บาทต่อปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี อัตราเงินช่วยเหลือ (ให้เพียงครั้งเดียว) 1,500 บาท / คน ประมาณการจำนวนผู้มีสิทธิ์ 2.3 ล้านคน ประมาณการวงเงินที่ใช้ 3,450 ล้านบาท ประมาณการจำนวนผู้มีสิทธิ์ 5.4 ล้านคน และวงเงินที่ใช้ 12,750 ล้านบาท
วิธีการโอนเงิน ให้ ธ.ก.ส. ธ.ออมสิน และธนาคารกรุงไทย ดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ใช่เกษตรกรที่ลง ทะเบียนตามโครงการฯ ไว้กับธนาคาร โดยจำแนกเป็น 2 กรณี ดังนี้
1. กรณีผู้มีสิทธิ์เป็นลูกค้าของธนาคาร : ให้ธนาคารโอนเข้าบัญชีของผู้มีสิทธิ์โดยตรง โดยให้ผู้มีสิทธิ์สามารถตรวจสอบเงินในบัญชีของตนภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ธนาคารแจ้งการโอนเงินหากไม่มีเงินโอนเข้าบัญชีให้ไปยืนยันสิทธิ์กับธนาคารที่ได้ลงทะเบียนไว้ และหากผู้สิทธิ์มีบัญชีเงินฝากมากกว่า 1 บัญชี ธนาคารจะทำการโอนเงินเข้าในบัญชีที่มีการเคลื่อนไหวล่าสุด
2. กรณีผู้มีสิทธิ์ไม่ได้เป็นลูกค้าของธนาคาร : ให้ผู้มีสิทธิ์ไปแสดงตัวและเปิดบัญชีเงินฝากที่สาขาธนาคารที่ไปลงทะเบียนตามโครงการฯ และสามารถตรวจสอบเงินในบัญชีหลังจากเปิดบัญชีภายใน 7 วัน หากไม่มีเงินโอนเข้าบัญชีให้ไปยืนยันสิทธิกับธนาคารที่ได้ลงทะเบียนไว้
ทั้งนี้ ให้ธนาคารใช้หลักเกณฑ์การโอนเงินข้างต้นเพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการโอนเงินให้เกษตรกรผู้มีสิทธิ์ ตามมาตรการเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อยด้วย กรอบระยะเวลาดำเนินการ วันที่ 1 ธ.ค.2559 ถึงวันที่ 30 ธ.ค.59
ขณะที่ปลัดกระทรวงการคลัง นายสมชัย สัจจพงษ์ กล่าวว่า มาตรการมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ โดยมีเงื่อนไขว่าประชาชนที่ลงทะเบียนจะมีรายได้น้อยกว่า 100,000 บาทต่อปี โดยมียอดลงทะเบียนประมาณ 8.3 ล้านคน จะได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวทั้งหมด โดยกระทรวงการคลังจะใช้เงินงบประมาณมาก 10,000 ล้านบาทเพื่อดำเนินโครงการนี้ และจะเริ่มแจกเงินได้ในวันที่ 1 ธ.ค.59 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชน
“ ในความเป็นจริงแล้ว มาตรการดังกล่าวควรจะเป็นมาตรการรวดเดียวจบคือ จ่ายเงินประชาชนทุกคนที่ลงทะเบียน แต่เนื่องจากการช่วยเหลือเกษตรกรเป็นมาตรการเร่งด่วน และอยู่ในช่วงปลายปีงบประมาณ 59 กระทรวงการคลังเองไม่แน่ใจว่า รัฐบาลจะมีเม็ดเงินเหลือไว้ใช่จ่ายในโครงการนี้เท่าไหร่ โดยประเมินว่าจะมีใช้เงินประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท ก็รีบเสนอให้ ครม.อนุมัติไปก่อน แต่เมื่อเวลาล่วงเลยจนถึงปีงบประมาณใหม่ (พ.ศ.2560) ผลการตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อยังไม่เสร็จ ประกอบกับมีงบประมาณก้อนใหม่เข้ามาก็เลยเสนอให้ ครม.ช่วยเหลือประชาชนอาชีพอื่นๆ ที่ไม่ใช่เกษตรกร ซึ่งคนกลุ่มนี้ จะใช้เงินอีกประมาณ 5,000 ล้านบาท รวมแล้วใช้เงินทั้งหมดมาก 10,000 ล้านบาท ”
ส่วนมาตรการอื่นๆ ในขณะนี้ ยังไม่มีแต่กระทรวงการคลังก็ไม่ตัดทิ้งอะไรออกไป เพียงแต่ทั้งหมดนี้อยู่ที่ความเหมาะสมเช่น การหักค่าลดหย่อนได้ 2 เท่าจากการลงทุนเครื่องจักร คอมพิวเตอร์และการก่อสร้างโรงงาน โครงการช้อปช่วยชาติ เป็นต้น