คลังก่อหนี้พุ่งปีเดียว 2 แสนล้าน
หนี้สาธารณะเดือนก.ย.59 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2 แสนล้านบาท เนื่องจากรัฐบาลมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น แต่มั่นใจปีหน้า ยอดหนี้ไม่เพิ่มขึ้นมากนักเพราะมูลค่าจีดีพีจะเพิ่มขึ้นเป็น 14.6 ล้านล้านบาท
“ หนี้สาธารณะคงค้างสิ้นเดือน ก.ย.59 มี 5.988 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 42.73% ของจีดีพีเพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 200,000 ล้านบาท หรือ 3.5% ส่วนใหญ่มาจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ การกู้เงินเพื่อการลงทุนจากแหล่งเงินกู้ในประเทศและต่างประเทศ ” นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) แถลงข่าวที่กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา และกล่าวว่า
หนี้สาธารณะคงค้างสิ้นเดือน ก.ย.59 มี 5.988 ล้านล้านบาท หรือ 42.73% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 200,000 ล้านบาท มาจากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลเช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กู้สำหรับดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีเขียว และสายสีม่วง การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กู้สำหรับปรับปรุงทางรถไฟที่ไม่ปลอดภัยต่อการเดินรถ โครงการก่อสร้างทางคู่เส้นทางรถไฟสายตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย โครง การรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และโครงการก่อสร้างทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่นโดยแบ่งเป็น หนี้รัฐบาล 4.471 ล้านล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 994,794 ล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 500,054 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ 22,317 ล้านบาท
โดยในส่วนของหนี้รัฐบาล 4.471 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นสุทธิเล็กน้อย 48,731 ล้านบาท ขณะที่หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 994,794 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 1,138 ล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 500,054 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 7,579 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการชำระคืนต้นเงินกู้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 3,580 ล้านบาท และของธนาคารอาคารสงเคราะห์ 3,000 ล้านบาท ขณะที่ หนี้หน่วยงานของรัฐ 22,317 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 958 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการชำระคืนต้นเงินกู้ของสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย 1,101 ล้านบาท
“หนี้สาธาณะในปัจจุบันยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยทางการคลัง ทำให้ยังมีช่องว่างทางการคลังเหลือเพียงพอที่จะจัดทำงบประ มาณรายจ่าย รวมถึงให้รัฐบาลสามารถกู้เงินลงทุนในโครงการลงทุนสำคัญที่รัฐบาลกำลังมีแผนดำเนินการในปีหน้า โดย สบน. ประเมินว่า ภายในสิ้นปีงบประมาณ 60 สถานการณ์หนี้สาธารณะของประเทศจะทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 45.5% ของมูลค่าจีดีพี 14.6 ล้านล้านบาท” รองผู้อำนวยการ สบน. กล่าวยืนยัน และชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยยังคงมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพี ปรับเพิ่มขึ้นไม่มากนักหากเทียบกับมูลค่าจีดีพีเพิ่มขึ้นมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 60 มีการประเมินว่าจะสามารถเบิกจ่ายเม็ดเงินลงทุนในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญได้ 220,000 ล้านบาท โดยเป็นโครงการที่เริ่มดำเนินการไปแล้วคาดว่าจะเบิกจ่ายได้ 60-70% ของเม็ดเงินลงทุนทั้ง หมด โดยเป็นการเบิกจ่ายตามงวดงาน ส่วนที่เหลือจะเป็นการเบิกจ่ายของโครงการที่เริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ2560