คลังย้ำเดินถูกทาง “แจกเงินคู่สร้างอาชีพ”
“ชาญกฤช” ยืนยัน รัฐบาล “แจกเงิน” ผ่าน “บัตรสวัสดิการ-ชิมช้อปใช้” เดินมาถูกทางแล้ว เหตุช่วยคนจนเข้าถึงโอกาสในการดำรงชีวิต ย้ำทำคู่ขนาน “ประชารัฐสร้างไทย” หวังสร้างความเข้มแข็งให้คนไทยรากหญ้า ก่อนปิดฉาก “แจกเงิน” ในอนาคต เผยเตรียมเกลี่ยบัตรสวัสดิการฯ ดึงคนรวยออก ดันคนจนกลุ่มใหม่เข้ามาเสริม เตือนผู้ประกอบการอย่าเลี่ยงเทคโนโลยี เหตุโดน 5G รุกหนักแน่
นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) กล่าวถึงนโยบายการช่วยเหลือประชาชนในระดับรากหญ้าเพื่อให้เข้าถึงโอกาสในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.6 ล้านคน และมาตรการ “ชิมช้อปใช้” อีก 13 ล้านคน ที่ถูกมองจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยว่าเป็นโครงการแจกเงินที่ไม่ก่อประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม กระทั่งกลายเป็นความล้มเหลวในเชิงนโยบายว่า ส่วนตัวเห็นว่าโครงการและมาตรการข้างต้นเป็นการดำเนินนโยบายที่เดินมาถูกทางแล้ว เนื่องจากยังมีประชาชนอีกเป็นจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงโอกาสในการดำเนินชีวิตเหมือนคนส่วนใหญ่ จำเป็นจะต้องได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล ซึ่งการส่งมอบเงินในช่วงที่ผ่านมาทำให้คนกลุ่มนี้ สามารถจะหาซื้อและจัดเก็บสำรองข้าวสาร อาหารแห้ง รวมถึงเครื่องปรุงรสเอาไว้เพื่อการดำรงชีวิต
ทั้งนี้ รัฐบาลจำเป็นจะต้องทำให้คนกลุ่มนี้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปให้ได้เสียก่อน อย่างน้อยก็จนกว่าจะมีหนทางอื่นที่ดีกว่า ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ดำเนินโครงการอื่นๆ คู่ขนานกันไป โดยเฉพาะโครงการประชารัฐสร้างไทย ที่จะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างให้กับประชาชนและวิสาหกิจชุมชน ไมว่าจะเป็นการเสริมสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างการเข้าถึงแหล่งเงิน เทคโนโลยี และการตลาด ฯลฯ ซึ่งเมื่อคนกลุ่มนี้มีความเข้มแข็ง รัฐบาลก็จะค่อยๆ ลดสวัสดิการที่เคยมีให้ในอนาคต
นายชาญกฤชกล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังพิจารณา “ต่อยอด” โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยจะตรวจสอบผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ 14.6 ล้านคนว่า มีใครที่อยู่ขาดคุณสมบัติ เช่น มีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดไว้หรือไม่ ถ้ามีก็จะทำการตัดสิทธิ์ทันที พร้อมกับเปิดรับคนกลุ่มเดิมที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการในเฟสแรกเพิ่มเติมเข้ามา ซึ่งยังไม่ได้กำหนดรายละเอียดของเฟสใหม่
ขณะเดียวกัน ในส่วนของมาตรการ “ชิมช้อปใช้” กระทรวงการคลังพร้อมจะหามาตรการใหม่ๆ มากระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในกระเป๋า 2 ทั้งนี้ สาเหตุที่การใช้จ่ายผ่านกระเป๋า 2 ไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลและกระทรวงการคลังคาดหวัง ส่วนหนึ่งเพราะผู้ประกอบการร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการราว 850,000 รายนั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก ที่ยังกังวลใจว่าอาจถูกนำรายได้ที่เกิดขึ้นจากมาตรการนี้ มาเป็นข้อมูลทางภาษี ซึ่งในความเป็นจริง ทั้ง รมว.คลังและอธิบดีกรมสรรพากรต่างยืนยันชัดเจนมาตลอดว่าไม่เกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด
“แนวโน้มการนำเทคโนโลยี 5G จะเกิดขึ้นในปีหน้า (63) ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ตั้งแต่ระบบการทำการตลาด การซื้อขาย และการชำระเงินค่าสินค้าและบริการ แน่นอนว่าสิ่งนี้ ย่อมส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งในแง่ของผู้บริโภค และผู้ขายสินค้า ซึ่งหากผู้ประกอบการยังคงปิดกั้นตัวเอง ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงให้เท่าทันกับเทคโนโลยี ย่อมจะต้องได้รับผลกระทบตามมาอย่างแน่นอน เช่นกัน การไม่เปิดใจยอมรับชำระเงินผ่านกระเป๋า 2 ตามมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ก็จะได้รับผบกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเช่นกัน” ผช.รมต.คลัง ย้ำ.