ธอส.จี้ยื่นกู้ซื้อบ้าน เชื่อต้นปี 63 เงินหมดแน่!
ธอส.คาด ยอดซื้อขายบ้านพุ่ง! หลัง มท. “ปล่อยผี” ลดค่าธรรมเนียม “โอน-จำจำนอง” เหตุลูกค้า “อั้น” จนยอดกู้และโอนมีแค่ 2,000 ล้านบาทเศษ ตั้งเป้าปล่อยกู้ 2 เดือนสุดท้ายปี 62 ต้องไม่ต่ำกว่า 1.75 หมื่นล้านบาท ถึงเข้าเป้าสินเชื่อทั้งปี 2.03 แสนล้านบาท เตือนรีบติดต่อขอกู้ก่อนสาย มั่นใจวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท หมดช่วง ม.ค.-ก.พ.63 แน่ จ่อเปิดขายตรง NPL ครั้งแรงช่วงต้นปีหน้า
นายฉัตรชัย ศิริไล กก.ผจก.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะมาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารอาคารสงเคราะห์ ภายใต้กรอบวงเงินรวม 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2.50%ต่อปี นาน 3 ปีแรก และ 4.625% ในปีที่ 4-5 ว่า จนถึงเวลา 9.30 น.ของวันนี้ (4 พ.ย.62) มียอดสินเชื่อในมาตรการดังกล่าวแล้ว 2,200 ล้านบาท ทั้งนี้ แม้กระทรวงมหาดไทยจะออกประกาศฯ 2 ฉบับที่ปรับลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง เหลือ 0.01% ตั้งแต่เย็นวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่ในทางปฏิบัติที่ติดวันหยุดต่อเนื่องจนถึงวันพรุ่งนี้ (5 พ.ย.) ทำให้การโอนและจดจำนองยังไม่เกิดขึ้นจริง เนื่องจากติดวันหยุดราชการของกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ดังนั้น จึงมีลูกค้าบางส่วนที่รอโอนหลังกระทรวงมหาดไทยออกประกาศ 2 ฉบับข้างต้น และกรมที่ดินเปิดทำงานจริง
อย่างไรก็ตาม คาดว่าหลังจากวันที่ 6 พ.ย.เป็นต้นไป จะเกิดแรงจูงใจของการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ราคา 1-3 ล้านบาท โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ต้องการอัตราดอกเบี้ยคงที่ของ ธอส.และการปรับลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองจากกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจะส่งผลต่อสินเชื่อของ ธอส. ที่มีค่าเฉลี่ยเงินกู้ในมาตรการนี้ ราว 1.8-2.5 ล้านบาท/ราย และคาดว่าวงเงิน 50,000 ล้านบาทนั้น จะหมดลงในช่วง ม.ค. ไม่เกิน ก.พ.63 อย่างแน่นอน จึงอยากให้ผู้สนใจเร่งขอสินเชื่อ ระหว่างที่รอภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ร่วมจัดโปรโมชั่น “ส่วนลด” ซึ่งคาดว่าจะมีราว 5-10% โดยเฉพาะกลุ่มที่พักอาศัยระดับราคา 3 ล้านบาทเศษ ซึ่งอยู่ในข่ายปรับลดราคาลงมาเหลือไม่เกิน 3 ล้านบาท เข้ากับมาตรการชุดนี้ของรัฐบาล ที่กำหนดราคาซื้อขายจริงต้องไม่เกิน 3 ล้านบาท
ผจก.ธอส.คาดว่า ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 62 ธอส.น่าจะปล่อยสินเชื่อได้ไม่ต่ำกว่า 1.75 หมื่นล้านบาทต่อเดือน ทำให้ 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ สามารถปล่อยสินเชื่อได้ราว 3.5 หมื่นล้านบาท อันเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดนี้
สำหรับผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรก ของปี 62 ณ วันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา พบว่า ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 148,693 ล้านบาท หรือ 106,285 บัญชี แบ่งเป็นสินเชื่อปล่อยใหม่วงเงินกู้ไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง 73,395 ราย ทำให้ ณ สิ้นไตรมาสที่ 3/62 เทียบกับ ณ สิ้นปี 61 ธอส.มียอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1,173,670 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.18% มีสินทรัพย์รวม 1,229,609 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.65% เงินฝากรวม 984,154 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.32% มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวน 54,451 ล้านบาท คิดเป็น 4.64% ของยอดสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 0.47% และมีกำไรสุทธิ 10,319 ล้านบาท
ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง ยังอยู่ที่ระดับแข็งแกร่งมากที่ 14.66% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ล่าสุด ณ วันที่ 31 ต.ค.62 ธอส.ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้แล้ว 165,642 ล้านบาท คิดเป็น 78.94% ของเป้าหมายสินเชื่อปล่อยใหม่ ณ สิ้นปี 62 ที่กำหนดไว้จำนวน 203,000 ล้านบาท และมั่นใจว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ตามเป้าหมายเนื่องจาก โดยมีแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาล
“การที่รัฐบาลมีมาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์จาก 2 % เหลือ 0.01 % และลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนจำนองจาก 1 % เหลือ 0.01 % ซึ่งล่าสุดประกาศกระทรวงมหาดไทยในเรื่องดังกล่าวได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้เรียบร้อยแล้วจนถึงวันที่ 24 ธ.ค.63 จะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนที่อยากมีบ้านตัดสินใจได้เร็วยิ่งขึ้น เพราะค่าใช้จ่ายในด้านค่าธรรมเนียมลดลง เช่น กรณีกู้ 3 ล้านบาท เดิมต้องชำระค่าจดทะเบียนการโอนและจดทะเบียนจำนองรวมกว่า 90,000 บาท ก็ลดเหลือเพียง 600 บาทเท่านั้น รวมถึงแรงสนับสนุนจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่จะเร่งจัดทำโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วงปลายปี ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยให้การปล่อยสินเชื่อใหม่ของธนาคารเป็นไปตามเป้าหมาย 203,000 ล้านบาท ได้อย่างแน่นอน” นายฉัตรชัย ย้ำ
สำหรับประเด็นที่น่าเป็นห่วงในปี 63 นั้น ผจก.ธอส.ระบุว่า ยังคงเป็นแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง หลังจากมีสัญญาณจากธนาคารสหรัฐ (เฟด) ว่าจะทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลกดดันไปยังธนาคารกลางอื่นๆ รวมถึง ธปท. (คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.) ที่อาจต้องปรับลดดอกเบี้ยนโยบายตามมา และแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยของสถาบันเงิน (ธนาคารพาณิชย์) โดยเฉพาะในส่วนของอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) กระทั่ง ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของสถาบันการเงิน แต่ในส่วนของ ธอส.นั้น เนื่องจากคิดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากอยู่แล้ว คือ ต่ำสุด 2.5% และเป็นอัตราคงที่ ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มลดลง จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ ธอส.แต่อย่างใด
สำหรับ NPL ที่ระดับ 4.64% นั้น ธอส.มีแผนจะปรับลดลงมาให้ได้อีกเดือนละ 0.15% ซึ่งจะทำให้ NPL เหลือราว 4.2% ปลายๆ ถึง 4.3% ณ สิ้นปี 62 ทั้งนี้ ธอส.มีแผนจะเปิดขาย NPL ผ่านโครงการ Virtual NPL ซึ่งถือเป็นการ ขาย NPL ตรงเป็นครั้งแรกของธนาคารฯในช่วง ม.ค.63 คาดว่า นอกจากช่วยลด NPL แล้ว จะทำให้ ธอส.ไม่ต้องเพิ่มเงินสำรองฯในส่วนนี้ ทำให้สามารถปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้นตามมา.