รัฐหนุนปลูกข้าวโพดอีก 2 ล้านไร่
ครม.ไฟเขียว ธ.ก.ส.ปล่อยเงินกู้ให้เกษตรกร 8,000 ล้านบาท ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อีก 2 ล้านไร่ ไม่หวั่นราคาตกต่ำซ้ำเติมเกษตรกร
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการการปรับเปลี่ยนปลูกพืชหมุนเวียนภายใต้นโยบายการส่งเสริมการเกษตรแบบครบวงจรตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงประกอบด้วย 2 โครงการ คือ 1.โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินการในพื้นที่ 35 จังหวัด จำนวน 2 ล้านไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวโพด
โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะสนับสนุนสินเชื่อเป็นค่าใช้จ่ายจำนวนให้เกษตรกรไร่ละ 4,000 บาท แบ่งเป็น 3 งวด งวดแรกไร่ละ 1,800 บาท สำหรับเป็นค่าเตรียมดิน ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ยรองพื้น และสารเคมีคุมวัชพืช งวดที่ 2 จำนวน 1,200 บาทต่อไร่ เป็นค่าปุ๋ยเคมี และค่าดูแลรักษา และงวดที่ 3 จำนวน 1,000 บาทต่อไร่ เป็นค่าเก็บเกี่ยว วงเงินสินเชื่อทั้งหมด 8,000 ล้านบาท ในขณะเดียวกันจะใช้เงินจำนวน 103.76 ล้านบาท เพื่อชดเชยอุดหนุนดอกเบี้ย 3% ต่อปี ปัจจุบันอยู่ที่ 7% รัฐอุดหนุน 3% และเกษตรกรจ่ายดอกเบี้ยเอง 4% ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนต.ค.2559-มิ.ย.2560
นายณัฐพร กล่าวว่า ประชาชนอาจสงสัยว่า ในเมื่อข้าวโพดราคาตก แต่รัฐบาลยังสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดอีก ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า ทุกปีประเทศไทยจะมีความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากกว่าที่ผลิตข้าวโพดได้เองอยู่แล้ว แต่ปีนี้สาเหตุใหญ่ที่ทำให้ข้าวโพดราคาตก เนื่องจากทางบริษัทผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่เริ่มมีนโยบายจะไม่รับซื้อข้าวโพดที่ปลูกในพื้นที่บุกรุก เพราะคาดว่า ในต่างประเทศจะมีมาตรการลักษณะเดียวกับการทำประมงผิดกฎหมายหรือไอยูยูออกมา คือการตรวจสอบย้อนกลับ หากพบว่า มีการเลี้ยงสัตว์จากข้าวโพดที่ปลูกในพื้นที่ผิดกฎหมาย อาจจะโดนนโยบายตอบโต้ได้
“ นอกจากนี้ ในปีนี้ ฝนตกช้า และมีน้ำมากในช่วงเก็บข้าวโพด ทำให้ข้าวโพดมีความชื้นสูง ราคาจึงตก ซึ่งรอบนี้ได้ประสานกับภาคเอกชนไว้แล้วจะรับซื้อข้าวโพดที่ก.ก.ละ 8 บาท ” นายณัฐพร กล่าว
และ 2. คือ โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด โดยกรมพัฒนาที่ดิน ดำเนินการในพื้นที่ 19 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา จำนวน 200,000 ไร่ ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกต้นปอเทืองแบ่งเป็นผลิตเมล็ดพันธุ์ขายคืนให้กรมพัฒนาที่ดิน 50,000 ไร่ อีก 150,000 ไร่ สนับ สนุนให้เกษตรกรปลูกแล้วไถกลบทำเป็นปุ๋ยพืชสด ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินจะสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ต้นทุนให้เกษตรกรไร่ละ 5 กิโลกรัม รายละไม่เกิน 20 ไร่ และจะสนับสนุนค่าไถเตรียมดินไร่ละ 500 บาท และค่าไถกลบอีกไร่ละ 500 บาท โดยจะรับซื้อเมล็ดพันธุ์คืนจำนวน 6,000 ตัน ในราคากิโลกรัมละ 20 บาท ใช้งบประมาณรวม 383.49 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการเดือนต.ค.2559-พ.ค.2560
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลยังเห็นชอบให้ข้าวสาลีที่นำมาใช้เลี้ยงสัตว์ เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตนำเข้าและต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พร้อมกำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ 1 ต่อ 3 คือ ถ้าจะนำเข้าข้าวสาลี 1 ตัน ต้องรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 3 ตัน และกำหนดราคารับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่กิโลกรัมละ 8 บาท ราคาที่หน้าโรงงาน เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาข้าวโพดภายในประเทศตกต่ำ
โดยประเทศไทยมีความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีละ 7-8 ล้านตัน แต่ผลิตได้ปีละ 4-4.5 ล้านตัน จึงต้องนำเข้าวัตถุดิบอื่น เช่น ข้าวสาลีเข้ามาทดแทน แต่ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาราคาข้าวสาลีในตลาดโลกลดลงจนถูกกว่าราคาข้าวโพดในประเทศแล้ว ทำให้ผู้ประกอบการผลิตอาหารสัตว์หันไปนำเข้าข้าวสาลีมากขึ้น เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี เป็นต้น โดยปี 2558 ผู้ประกอบการอาหารสัตว์นำเข้าข้าวสาลีมากถึง 3.9 ล้านตัน สำหรับปีนี้ 9 เดือนแรกนำเข้ามาแล้ว 2.77 ล้านตัน