ธนารักษ์จ่อเปิดตลาดซื้อ-ขายเหรียญกษาปณ์ แสน ล.
ข่าวใหญ่! “บิ๊กหยิม” แห่งกรมธนารักษ์ จ่อคลอดโปรเจ็กต์ยักษ์ เร่งสร้าง “ตลาดรอง-ราคาอ้างอิง : เหรียญกษาปณ์” มูลค่าตลาดสูงเกิน 1 แสนล้านบาทต่อปี พร้อมสร้าง “กูรูเหรียญกษาปณ์” ร่วมกับภาคเอกชน ตั้งเป้า “2 ขา” ทั้งขายและรับซื้อ ช่วงแรกเตรียมงบ 1-2 ล้านบาทต่อเดือน
รับซื้อคืนเหรียญมีค่าจากชาวบ้าน เชื่อ “กลุ่มเหรียญเก่า – ผลิตน้อย – หายาก – ผลิตผิดพลาด – มีสตอรี่ “พิศดาร” ล้วนมีราคาพุ่งสูง ระบุ หากมีการนำเหรียญเก่า-สภาพดีออกมาใช้ ช่วยลดงบฯผลิตเหรียญใหม่ปีละ 2,000 ล้านบาท
นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวถึงนโยบายใหม่ที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าของวงการเหรียญกษาปณ์ไทยว่า กรมฯเตรียมเปิดตลาดรอง ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนเหรียญกษาปณ์ของไทย โดยมีเป้าหมายเหมือนวงการซื้อขายหลักทรัพย์ ทองคำ และวงการพระเครื่อง โดยกรมฯจะทำหน้าที่เป็น “ผู้ควบคุมและกำหนดราคากลางรับซื้อ-ขาย” (Regurator) พร้อมกับสร้างเครือข่าย “กูรูเหรียญกษาปณ์” ด้วยการจัดอบรมให้ความรู้ และออกใบรับรอง (Certificate) ให้กับกูรูฯและเหรียญกษาปณ์
แนวคิดนี้เชื่อว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเหรียญกษาปณ์ของไทย เนื่องจากปัจจุบัน ไม่เพียงมีการสะสมเหรียญเก่า ทั้งเหรียญกษาปณ์ทั่วไปและเหรียญกษาปณ์ในวาระพิเศษ แต่ยังมีการรับซื้อและจำหน่ายเหรียญกษาปณ์ที่เรื่องราวน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น เหรียญกษาปณ์ “ปราบจีนฮ่อ” ในรัชกาลที่ 5 ที่มีการประกาศรับซื้อเหรียญจริงสูงถึงเหรียญละ 1 ล้านบาท หรือเหรียญกษาปณ์ ราคา 1 บาท “พญาครุฑ” ปี 2517 ในรัชกาลที่ 9 ที่มีการซื้อขายกันในตลาดไม่ต่ำกว่า 100-200 บาทต่อเหรียญ รวมถึงเหรียญกษาปณ์อื่นๆ ที่มีเรื่องราวเล่าขานเกินสิ่งปกติธรรมดา นอกจากนี้ ยังมีเหรียญกษาปณ์บางรุ่น ที่ผลิตออกมาจำนวนไม่มาก หรือผลิตออกมาแล้ว เกิดความผิดพลาด เช่น ด้านหน้าและหลังของเหรียญไม่กลับด้าน เหมือนเหรียญกษาปณ์ปกติทั่วไป จึงทำให้ความต้องการจะสะสมเหรียญกษาปณ์เหล่านี้มีสูงมาก ทำให้ราคาซื้อ-ขายในตลาดแพงตามไปด้วย
อธิบดีกรมธนารักษ์กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้ กรมฯจะต้องใช้งบประมาณในการผลิตเหรียญกษาปณ์รุ่นใหม่ เพื่อทดแทนเหรียญกษาปณ์ที่หายไปจากระบบ สูงถึงปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท ดังนั้น หากมีการเปิดตลาดรอง ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนเหรียญกษาปณ์ของไทย เชื่อว่าจะมีการนำเหรียญกษาปณ์รุ่นเก่าที่มีสภาพดีออกมาใช้กัน จนทำให้กรมฯสามารถลดปริมาณการผลิตเหรียญกษาปณ์ลงได้ปีละเป็นจำนวนมหาศาล และเงินที่ประหยัดได้นั้น จะถูกนำไปใช้เพื่อการสร้างราคากลางอ้างอิงในการรับซื้อและจำหน่าย ซึ่งขณะนี้ ตนได้สั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำราคากลางอ้างอิงแล้ว
โดยในระยะแรก กรมฯจะเตรียมงบประมาณจำนวน 1-2 ล้านบาทต่อเดือน เพื่อรับซื้อเหรียญกษาปณ์ ผ่านศูนย์บริหารจัดการเหรียญแบบครบวงจรประจำภูมิภาค จำนวน 6 แห่ง คือ ขอนแก่น อุบลราชธานี เชียงใหม่ นครสวรรค์ สุราษฎร์ธานี และสงขลา เป็นการนำร่องก่อน โดยเหรียญที่จะมีประกาศรับซื้อนั้น กรมฯจะประกาศถึงรุ่นและราคากลางที่จะรับซื้อโดยเร็วที่สุด ขณะเดียวกัน กรมฯก็จะทำการจำหน่ายเหรียญกษาปณ์ที่มี เพื่อให้ตลาดได้เก็บสะสมและเก็งกำไร เมื่อวันเวลาผ่านไปในอีกหลายปีข้างต้น
ทั้งนี้ กรมฯจะเร่งประสานองค์กร หน่วยงาน และภาคเอกชน ที่ดำเนินการเก็บสะสม จัดประกวด และรับซื้อ-ขายเหรียญกษาปณ์ เพื่อสร้างเครือข่ายตลาดรองเหรียญกษาปณ์ที่มีมาตรฐานและได้รับการยอมรับในระดับสากลเหมือนเช่นวงการจำหน่ายหลักทรัพย์ ทองคำ และของมีค่าอื่นๆ
“ผมได้สั่งเป็นนโยบายไปแล้ว ซึ่งหากโครงการนี้เกิดขึ้นได้จริง ไม่เพียงกรมธนารักษ์จะประหยัดงบประมาณในการผลิตเหรียญกษาปณ์รุ่นใหม่ แต่การคงจำนวนเหรียญกษาปณ์ให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสมกับปริมาณความต้องการใช้ในระบบนั้น ยังสอดรับกับนโยบาย “สังคมไร้เงินสด” (Cashless Society) ของรัฐบาลชุดนี้ ไม่เพียงแค่นั้น ประชาชนคนไทย โดยเฉพาะชาวบ้านทั่วไป หากไปค้นหาและพบว่าตัวเองมีเหรียญเก่าๆ ที่เก็บไว้จนหลงลืม และหากเหรียญนั้นๆ เป็นเหรียญหายาก หรือมีสตอรี่ที่ไม่ธรรมดา จนเป็นที่ต้องการของนักสะสมของเก่าและมีค่า เชื่อว่าเหรียญดังกล่าวอาจเปลี่ยนชีวิตของชาวบ้านธรรมดาเหล่านั้น แต่ทั้งนี้ กรมฯจะต้องบูรณาความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อสร้างตลาดรองขึ้นมา สำหรับทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนเหรียญกษาปณ์ พร้อมกับเร่งสร้างราคากลางอ้างอิงของแต่ละเหรียญแต่ละรุ่น ทั้งนี้ ส่วนตัวเชื่อว่ามุลค่าตลาดของการซื้อขายแลกเปลี่ยนเหรียญกษาปณ์ในแต่ละปีนั้น ไม่น่าจะต่ำกว่า 1 แสนล้านบาททีเดียว” อธิบดีกรมธนารักษ์ ระบุ.