คลังชี้เศรษฐกิจระดับภาค/จังหวัดมีแนวโน้มดีขึ้น
คลังเผยสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัด/ภาค พบดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค 6 เดือนข้างหน้า มีแนวโน้มอนาคตเศรษฐกิจขยายตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้นักลงทุนเชื่อมั่นมากขึ้น
นายลวรณ แสงสนิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวถึงดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thailand Regional Economic Sentiment Index: RSI) ประจำเดือน ต.ค.62 ว่า
ในการประมวลผลข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัด พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (คาดการณ์ 6 เดือนข้างหน้า) ชี้แนวโน้มอนาคตเศรษฐกิจขยายตัว โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากภาคบริการและภาคการลงทุนเป็นปัจจัยสนับสนุน อย่างไรก็ดี ควรติดตามสถานการณ์ด้านการลงทุนของ กทม. และปริมณฑล
โดยดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 69.2 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่เพิ่มขึ้น โดยใน 6 เดือนข้างหน้า จะได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคบริการและภาคการลงทุน เนื่องจากเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว ประกอบกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น “ชิมช้อปใช้” “เที่ยววันธรรมดาราคาช็อกโลก” และ “ร้อยเดียวเที่ยวทั่วไทย” คาดว่าจะส่งผลบวกต่อภาคการท่องเที่ยว และจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จะสามารถดึงดูดนักลงทุนให้ตัดสินใจลงทุนเพิ่มมากขึ้น
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 69.1 สื่อถึงการคาดการณ์เศรษฐกิจที่จะขยายตัวโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ เนื่องจากเข้าสู่ช่วงปลายปีซึ่งเป็นช่วงผลิตเพื่อส่งตามคำสั่งซื้อ ประกอบกับมีโครงการชิมช้อปใช้ทำให้เศรษฐกิจในจังหวัดขยายตัว อย่างไรก็ตาม ควรเฝ้าระวังความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมในอนาคต
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้ อยู่ที่ 66.9 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่เพิ่มขึ้น โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคบริการและภาคการลงทุนเป็นหลัก โดยคาดว่าภาคบริการจะขยายตัวจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง และการยกระดับมาตรฐานการบริการและมาตรฐานความปลอดภัยด้านต่างๆ ให้แก่นักท่องเที่ยว รวมถึงมีการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในเชิงรุกเพื่อรองรับฤดูกาลท่องเที่ยว รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง อาทิ มาตรการ “ชิม ช้อป ใช้ เฟส 2” มาตรการ “100 เดียว เที่ยวทั่วไทย” และมาตรการ “วันธรรมดาราคาช็อคโลก”
ส่วนภาคการลงทุน เนื่องจากผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นที่จะลงทุนเพิ่มขึ้นหลังจากรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในทุกภาคส่วน อาทิเช่น มาตรการโครงการสนับสนุน SMEs ของภาครัฐ ทั้งรายย่อยทั่วไป และ SMEs ในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและบริการเพื่อเสริมสภาพคล่องหรือลงทุนขยายกิจการ รวมถึงมาตรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่เกษตรกร
ด้านดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออก ยังอยู่ในเกณฑ์ดีที่ 64.8 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากแนวโน้มของภาคอุตสาหกรรมและภาคการลงทุน โดยแนวโน้มธุรกิจภาคอุตสาหกรรมดีขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายและเปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่มากขึ้น รวมทั้งผลจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐส่งผลดีต่อยอดขายและยอดคำสั่งซื้อของผู้ประกอบการ ประกอบกับมีนักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุน เช่น ใน จ.ปราจีนบุรี ผู้ประกอบการสิงคโปร์มาลงทุนเพื่อสร้างห้องเย็นสำหรับเก็บผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรต่างๆ เพื่อให้คงความสดจนถึงมือผู้บริโภค
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคตะวันตก เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 64.8 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่เพิ่มขึ้น โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคบริการและภาคเกษตรเป็นหลัก ในส่วนของภาคบริการ เนื่องจากเข้าสู่ฤดูท่องเที่ยวและมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของการเกษตร เนื่องจากการขยายตัวของผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ ข้าวนาปี มันสำปะหลัง สุกร น้ำนมดิบ และกุ้งขาวแวนนาไม เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาจากความต้องการของตลาดและ การบริโภคอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนภาคเกษตร สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคกลาง อยู่ในเกณฑ์ดีที่ระดับ 61.6 สื่อถึงการคาดการณ์เศรษฐกิจที่จะขยายตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคบริการและภาคการลงทุน จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑล ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 58.1 โดยควรติดตามสถานการณ์ด้านการลงทุน
นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผอ.สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค กล่าวเสริมว่า เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ปี 2562 ยังคงขยายตัวในภาคกลาง และภาคตะวันออก โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนภาคเอกชน และการท่องเที่ยวจากชาวต่างชาติ อย่างไรก็ดี ควรติดตามการจับจ่ายใช้สอยของภาคเหนือและภาคใต้ สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี
โดยภาคกลาง เศรษฐกิจขยายตัว จากการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือน ก.ย.62 ขยายตัวร้อยละ 21.3 และ 22.4 ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 62 ขยายตัวร้อยละ 10.4 และ 27.9 ต่อปี ตามลำดับ
ภาคตะวันออก เศรษฐกิจขยายตัว จากการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวของคนต่างประเทศ อย่างไรก็ดีการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวลดลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือน ก.ย.62 ขยายตัวร้อยละ 13.2 และ 19.1 ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 62 ขยายตัวร้อยละ 4.2 และ 16.8 ต่อปี ตามลำดับ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจขยายตัว การปรับตัวเพิ่มขึ้นของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน แต่การท่องเที่ยวปรับตัวลดลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ จากการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกันยายน 2562 ขยายตัวร้อยละ 2.0 ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 62 ขยายตัวร้อยละ 1.7 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ไตรมาสที่ 3 ปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 2.6 และ 2.2 ต่อปี ตามลำดับ
ขณะที่ภาคตะวันตก เศรษฐกิจขยายตัวจากการขยายตัวของการบริโภคในหมวดสินค้าคงทนและการลงทุนภาคเอกชน แต่ภาคการท่องเที่ยวปรับตัวชะลอลงเล็กน้อย สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนกันยายน 2562 ขยายตัวร้อยละ 3.9 และ 1.7 ต่อปี ตามลำดับ
ส่วนกทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจขยายตัว การขยายตัวของการบริโภคในหมวดสินค้าคงทนและการลงทุนภาคเอกชน และ แต่ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวชะลอลงเล็กน้อย สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนกันยายน 2562 ขยายตัวร้อยละ 5.6 และ 0.8 ต่อปี ตามลำดับ
ภาคเหนือ เศรษฐกิจทรงตัว จากการขยายตัวการลงทุนภาคเอกชน แต่การท่องเที่ยวปรับตัวชะลอลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน สะท้อนจากสอดคล้องกับเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการในเดือน ก.ย.62 อยู่ที่ 2,479 ล้านบาท ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 62 มีเงินลงทุนอยู่ที่ 10,393 ล้านบาท จากการลงทุนในโรงงานผลิตเอทิลแอลกอฮอล์ และโรงงานผลิต ส่ง หรือจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าในจังหวัดนครสวรรค์เป็นสำคัญ สอดคล้องกับยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 4.0 ต่อปี
สำหรับภาคใต้ เศรษฐกิจทรงตัว ตามการลดลงของการลงทุนภาคเอกชน แต่การท่องเที่ยวชาวต่างประเทศขยายตัว สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ และเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ในไตรมาสที่ 3 ปี 62 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อน เนื่องจากมีการเร่งจดทะเบียนไปแล้วในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 14.9 ต่อปี.