สรรพสามิตจับของผิด กม.เฉียด 10 ล.
สรรพสามิตโชว์ขยัน “จับแล้วจับอีก” ล่าสุดรอบสัปดาห์ 11 – 17 ต.ค. จับผู้กระทำผิด 570 คดี เก็บค่าปรับ เฉียด 10 ล้านบาท ย้ำเดินหน้ามาตรการเชิงรุก หวังป้องกันและปราบปรามสินค้าผิดกฎหมาย สร้างความเป็นธรรม โปร่งใส และย้ำความมั่นใจแก่ผู้ประกอบการที่เสียภาษีโดยสุจริต
นายวรวรรธน์ ภิญโญ รองอธิบดีกรมสรรพสามิต รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต กล่าวถึงผลการตรวจค้นและจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายสรรพสามิต ทั่วประเทศ ช่วงระหว่างวันที่ 11 – 17 ต.ค.62 พบว่ามีการกระทำผิด 570 คดี คิดเป็นเงินค่าปรับ 9.37 ล้านบาท โดยแยกเป็น สุรา 299 คดี ค่าปรับ 2.58 ล้านบาท, ยาสูบ 212 คดี ค่าปรับ 4.85 ล้านบาท, ไพ่ 14 คดี ค่าปรับ 0.07 ล้านบาท, น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน 19 คดี ค่าปรับ 0.17 ล้านบาท, น้ำหอม 1 คดี ค่าปรับ 0.02 ล้านบาท, รถจักรยานยนต์ 18 คดี ค่าปรับ 0.51 ล้านบาท และสินค้าอื่นๆ รวมกันอีก 7 คดี ค่าปรับ 1.17 ล้านบาท
โดยมีของกลางแยกเป็นน้ำสุรา 1,691.890 ลิตร, ยาสูบ 6,061 ซอง, ไพ่ 389 สำรับ, น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน 2,360.000 ลิตร, น้ำหอม 40 ขวด และรถจักรยานยนต์ 20 คัน
สรุปยอดรวมในปีงบประมาณ 2563 ตั้งแต่วันที่ 1 – 17 ต.ค.62 พบว่ามีการกระทำผิดรวม 1,542 คดี คิดเป็นเงินค่าปรับ 24.01 ล้านบาท แยกเป็น สุรา 810 คดี ค่าปรับ 7.61 ล้านบาท, ยาสูบ 539 คดี ค่าปรับ 12.41 ล้านบาท, ไพ่ 42 คดี ค่าปรับ 0.32 ล้านบาท, น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน 54 คดี ค่าปรับ 0.76 ล้านบาท, น้ำหอม 1 คดี ค่าปรับ 0.02 ล้านบาท, รถจักรยานยนต์ 77 คดี ค่าปรับ 1.16 ล้านบาท และสินค้าอื่นๆ อี 19 คดี ค่าปรับ 1.73 ล้านบาท โดยมีของกลางแยกเป็นน้ำสุรา 5,552.286 ลิตร, ยาสูบ 17,243 ซอง, ไพ่ 7,386 สำรับ, น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน 15,015.000, ลิตร น้ำหอม 40 ขวด และรถจักรยานยนต์ 87 คัน
โฆษกกรมสรรพสามิต กล่าวว่า การดำเนินงานดังกล่าวถือเป็นไปตามมาตรการเชิงรุกในการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายสรรพสามิต อีกทั้งยังหวังจูงใจผู้ที่อยู่นอกระบบให้เข้ามาสู่ระบบภาษี ซึ่งที่ผ่านมากรมฯ ได้จัดทำแผนเฉพาะกิจปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายสรรพสามิต โดยระดมกำลังเจ้าหน้าที่ ชุดเฉพาะกิจจากสำนักตรวจสอบ ป้องกันและปราบปรามและเจ้าหน้าที่สรรพสามิตพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมสนธิกำลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันตรวจสอบและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายสรรพสามิตตามพื้นที่เป้าหมายที่คาดว่าอาจมีการกระทำผิด เพื่อสร้างความเป็นธรรม โปร่งใส และความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการที่เสียภาษีโดยสุจริต และเพื่อเป็นมาตรการเสริมทางอ้อมในการดูแลสุขภาพของผู้บริโภคให้บริโภคสินค้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากการบริโภคสินค้าที่หลีกเลี่ยงภาษีจะเป็นอันตรายและส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าสินค้าโดยทั่วไป
“หากประชาชนท่านใดทราบเบาะแสการกระทำความผิดเกี่ยวกับสินค้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตสามารถแจ้งโดยตรงได้ที่กรมสรรพสามิต หรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือ Call center 1713 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่ www.excise.go.th ซึ่งกรมสรรพสามิตจะปกปิดข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสเป็นความลับ และจะมอบสินบนนำจับให้ภายหลังจากคดีเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว” โฆษกกรมสรรพสามิต ระบุ.