จี้รัฐอัดเพิ่ม 5 หมื่นล.ดันจีดีพี หนุน SMEs
เหนื่อยใจแทนผู้ประกอบการ SMEs หลังศูนย์พยากรณ์ฯ ม.หอการค้า พบดัชนีทุกตัวตลอด 3 ไตรมาสปี 62 ทรุดพร้อมกันเกือบทุกเซ็กเม้นท์ เผยหากรัฐบาลอัดฉีดเงินเพิ่มอีก 3-5 หมื่ล้านบาทช่วง 2-3 เดือนที่เหลือ มีโอกาสดันจีพีดี แตะ 3% หนุน SMEs ไตรมาสสุดท้ายโต 4% ฟันธง! จีดีพี 62 โตจริงแค่ 2.8% ขณะที่ SMEs โตแค่ 3.3-3.5%
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ร่วมกับ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank แถลงดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ SMEs และดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ SMEs ประจำไตรมาสที่ 3/62 จาก 1,234 ตัวอย่างทั่วประเทศ โดยสำรวจ 3. ดัชนี คือ สถานการณ์ธุรกิจ SMEs, ความสามารถในการทำธุรกิจ และความยั่งยืนของธุรกิจ SMEs เพื่อนำมาประมวลให้เห็นถึงดัชนีความสามารถในการแข่งขันของ SMEs
ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และ ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า ตลอด 3 ไตรมาสที่ผ่านมา พบว่ามีสัญญาณ จากปัจจัยต่างๆ ไม่สู้ดีนัก ส่งผลทำให้อัตราการเติบโตของธุรกิจ SMEs ในเกือบทุกเซ็กเม้นท์ หดตัวลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตทั้งปีที่ระดับ 3.5-4.0% เหลือเพียงแค่ 3% เศษ อย่างไรก็ตาม จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นมาตรการชิมช้อปใช้, การประกันรายได้, การช่วยลดภาระต้นทุนการผลิตภาคเกษตร ฯลฯ กลุ่มตัวอย่างยังมั่นใจว่าการเติบโตของธุรกิจ SMEs ในช่วงไตรมาสที่ 4 น่าจะดีกว่าทั้ง 3 ไตรมาสรวมกัน ซึ่งศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย คาดการณ์ว่า ทั้งปี 62 น่าจะเติบโตที่ระดับ 3.3-3.5%
ในส่วนของอัตราารเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยปี 62 คาดว่าน่าจะเติบที่อยู่ที่ระดับ 2.8% แต่หากจะขยับขึ้นไปแตะที่ระดับ 3.0% หรือมากกว่านั้น รัฐบาลจะต้องอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปในระบบไม่ต่ำกว่า 30,000 – 50,000 ล้านบาท เพิ่มเติมจากชุดมาตรการปกติในช่วงเวลาที่เหลืออีก 2-3 เดือน โดยเฉพาะในส่วนของมาตรการ “ชิมช้อปใช้” เฟส 2 ที่จะต้องโฟกัสกลุ่มที่ต้องการใช้จ่ายเงินเพื่อการท่องเที่ยวจริงๆ เพราะคนกลุ่มนี้ เป็นคนละกลุ่มกับคนที่ต้องการเงินในกระเป๋าที่ 1 จำนวน 1,000 บาท และเงินที่ได้รับคืนจากกระเป๋าที่ 2 (Cash Back) 15% สำหรับกลุ่มนี้ ถือว่าเพียงพอแล้ว แต่ไม่ใช่กับคนกลุ่มแรก ที่การ Cash Back 15% อาจดูน้อยเกินไปที่จะสร้างแรงจูงใจให้ออกมาท่องเที่ยวและจับจ่ายเงิน
“โอกาสที่อัตราการเติบโตของกลุ่ม SMEs ในไตรมาส 4 แตะหรือมากกว่า 4% ก็มีความเป็นไปได้ แต่โอกาสมีน้อยมาก ซึ่งหากจะเป็นไปได้ รัฐบาลต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ เข้ามาเสริม พร้อมกับอัดฉีดเม็ดเงินให้มากกว่านี้ และเลือกกลุ่มเป้าหมายให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของชุดมาตรการเหล่านั้น รวมถึงผลักดันให้มีการเบิกจ่ายเงินของหน่วยงานราชการที่มีโครงการลงทุนใหม่ๆ ให้เร็วและมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องกระตุ้นให้แบงก์เฉพาะกิจของรัฐอัดฉีดเงินผ่านโครงการเงินกู้ให้ผู้ประกอบการ SMEs เช่นที่ SME D BANK ทำ” ผศ.ดร.ธนวรรธน์ ระบุ
ด้าน นางจงรักษ์ โปลิตานนท์ รอง กก.ผจก. SME D Bank กล่าวถึงผลสำรวจดัชนี SMEs ว่า เห็นได้ชัดเจนว่า กลุ่ม SMEs ที่เป็นลูกค้า ธพว. มี ค่าเฉลี่ยดัชนีทุกด้านสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้า SME D Bank เนื่องจากธนาคารฯ มีกระบวนการพัฒนาผู้ประกอบการคู่กับการให้สินเชื่อ เช่น อบรมการทำตลาดออนไลน์ บริหารจัดการต้นทุนธุรกิจ จัดทำบัญชีเข้าสู่ระบบ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น อีกทั้ง ช่วยขยายตลาดใหม่เพิ่มยอดขาย เช่น พาออกงานแสดงสินค้าที่ธนาคารจัดขึ้น โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ พาเปิดตลาดอีคอมเมิร์ซ ผ่านแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ชื่อดัง อย่าง Thailandpostmart.com Shopee และ Lazada เป็นต้น นอกจากนี้ ธนาคารฯยังช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าหรือบริการของลูกค้าผ่านสื่อต่างๆ ทำให้ธุรกิจเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ซึ่งจากกระบวนพัฒนาเหล่านี้ ช่วยให้ลูกค้า ธพว. มีศักยภาพ สามารถปรับตัวทันโลกธุรกิจยุคใหม่ ดังนั้น ธนาคารจะเดินหน้าแนวทางพัฒนาผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ธนาคารฯ ยังได้เตรียมผลิตภัณฑ์สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไว้รองรับให้ผู้ประกอบการนำไปใช้เสริมสภาพคล่อง ลงทุน ขยาย ปรับปรุงธุรกิจ หรือเป็นทุนหมุนเวียน เช่น สินเชื่อนิติบุคคล555 วงเงินกู้สูงสุด 15 ล้านบาท ดอกเบี้ยเฉลี่ย 7 ปี อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 0.479%ต่อเดือน สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน คิดดอกเบี้ยถูก นิติบุคคล 3 ปีแรกเพียง 0.25% ต่อเดือน และบุคคลธรรมดา 3 ปีแรกเพียง 0.42% ต่อเดือน.