ก.อุตฯ พักหนี้ 4 จ.น้ำท่วม กว่า122 ล.บ.
สุริยะ เผย ผล ก.อุตสาหกรรมพร้อมหน่วยงานพันธมิตรลงพื้นที่ซ่อม สร้าง ฟื้นฟู 4 จว. ภาคอีสานพร้อมช่วยผู้ประสบอุทกภัยพักชำระหนี้ กว่า 122 ล้านบาท
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนและช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ภายใต้ 7 มาตรการ “ทำทันที”ซ่อม สร้าง ฟื้นฟู ช่วยผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่ 4 จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร และร้อยเอ็ด ในระหว่างวันที่ 4 – 8 ตุลาคม 2562 โดยได้ร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) พักชำระหนี้ให้กับลูกค้ารายเดิมที่ประสบอุทกภัย พร้อมจัดกิจกรรมคลินิกอุตสาหกรรมเคลื่อนที่ ให้บริการคำปรึกษาแนะนำ แก่ผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัยอย่างครบวงจร และลงพื้นที่เยี่ยมเยือนผู้ประกอบการโรงงาน SMEs และวิสาหกิจชุมชนที่ประสบอุทกภัยเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ และร่วมทำความสะอาด (Big cleaning) ซ่อมแซม ฟื้นฟูอุปกรณ์ อาคาร และเครื่องจักรให้กับสถานประกอบการ
จากสถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมาส่งผลกระทบภาคอุตสาหกรรม ได้รับความเสียหาย 190 ราย มูลค่า ความเสียหาย 196,540,000 บาท กระทรวงฯ ได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรคือธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ในการพักชำระหนี้ให้กับลูกค้ารายเดิมที่ประสบอุทกภัย รวม 67 ราย วงเงินทั้งสิ้น 122,900,000 บาท
พร้อมทั้งลดดอกเบี้ยเงินกู้ และขยายเวลาผ่อนชำระหนี้ รวมทั้งอยู่ระหว่างอนุมัติสินเชื่อ ของเงินทุนหมุนเวียนฯ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสินเชื่อตามมาตรการต่างๆ ของ ธพว. เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องและฟื้นฟูกิจการให้กับผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัย กว่า 190 ราย แบ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรม 71 ราย วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 38 ราย วิสาหกิจชุมชน (OTOP) และบุคคลธรรมดา จำนวน 79 ราย และ เหมืองแร่ 2 ราย
และมีบริการให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัยอย่างครบวงจร ทั้งด้านการเงินและฟื้นฟูปรับปรุงสถานประกอบการ ให้กลับมาดำเนินกิจการได้โดยเร็ว เพื่อช่วยเหลือสถานประกอบการและประชาชนที่ประสบอุทกภัยภายหลังน้ำลด มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 2,625 คน และยังมีการสำรวจโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เพื่อพิจารณายกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีและให้บริการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรให้สามารถนำเครื่องจักรที่จดทะเบียนแล้วไปจำนองเป็นทุนในการดำเนินกิจการได้ จำนวน 53 โรง
นอกจากนี้ กระทรวงฯ ได้จัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำ (ศูนย์ SMEs Support & Rescue Center : SSRC) ให้แก่ผู้ประกอบการโรงงาน SMEs วิสาหกิจชุมชน และผู้ที่สนใจ ทั้งด้านการเงิน และด้านอื่นๆ เช่น การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตผลทางการเกษตร การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ และร่วมกับ ปตท. บริษัทรถยนต์ชั้นนำ และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยการอาชีพ วิทยาลัยสารพัดช่าง รวมถึงงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดให้ความร่วมมือจัดส่งบุคลากร ช่างยนต์ รวมกว่า 200 คน เพื่อให้บริการตรวจเช็คสภาพรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถสำหรับใช้ทางการเกษตร พร้อมเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องให้บริการตรวจเช็คและซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าฟรีให้แก่ประชาชน รวม 2,239 รายการ โดยมีประชาชนนำรถยนต์และรถจักรยานยนต์ มารับบริการ แบ่งเป็น รถยนต์ 515 คัน รถจักรยานยนต์ 1,316 คัน รถสำหรับใช้ทางการเกษตร 126 คัน และเครื่องใช้ไฟฟ้า 282 เครื่อง
และยังจัดให้มี “ครัวอุตสาหกรรม” สำหรับให้บริการอาหาร อาหารว่างและเครื่องดื่ม ให้กับ ผู้เข้าร่วมงาน และมอบถุงยังชีพ น้ำดื่ม ข้าวสาร สเปรย์กันน้ำกัดเท้า รวมทั้งให้บริการตัดผมชายฟรีตลอดการจัดงาน