โรดแมพเดิม สู้กันบนฐานที่มั่นเดิม
“ยังยืนยันว่าเราจะเดินหน้าไปตามโรดแมพที่ว่างไว้และจัดการเลือกตั้งปี 2560 ให้ได้ นั่นคือหลักการสำคัญไม่มีเปลี่ยนแปลง”
เสียง “บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรี ยืนยันโรดแมพกับนักข่าวอีกครั้ง หลังประชุมร่วม คสช. กับ ครม. เสร็จสิ้น เมื่อ 9 ส.ค. ที่ผ่านมา
“โรดแมพ” เดินหน้าต่อเข้าสู่ช่วงปลายทางของระยะที่ 2 เข้าสู่ห้วงระยะที่ 3 แบบชอบธรรม หลังจากคะแนนออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา “ผ่านฉลุย”
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนหนึ่งที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นตัวแปลให้คะแนนประชามติผ่าน เพราะคาถา มนต์สะกด “รับร่างรัฐธรรมนูญ – คำถามพ่วงประชามติ” ของ “พล.อ.ประยุทธ์” ก่อนวันลงประชามติ ที่ส่งแรงสวิงใช้ได้ผลอยู่หมัด ถือเป็นความสำเร็จและช่วยกู้แต้มบวกให้รัฐบาล
“ในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่งในวันดังกล่าว ผมจะไปลงประชามติโดยจะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว รวมถึงยอมรับคำถามพ่วง ซึ่งนี่ไม่ใช่เป็นการโน้มน้าวแต่อย่างใดเป็นเพียงการแสดงความเห็นในส่วนตัวในฐานะประชาชนคนไทย”
คาถานี้บอกได้คำเดียวว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้หลายคนเทใจ “โหวตเยส” รับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงประชามติแบบท่วมท้น ด้วยคะแนนเห็นชอบ 15.56 ล้านเสียง ไม่เห็นชอบ 9.7 ล้านเสียง ส่วนคำถามพ่วง เห็นชอบ 13.96 ล้านเสียง ไม่เห็นชอบ 10 ล้านเสียงเศษ
แม้ว่าตัวเลข “รับ-ไม่รับ” จะทิ้งห่างกันมากโข แต่รัฐบาลไม่ควรชะล่าใจ เพราะอย่าลืมว่าพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของพรรคเพื่อไทยที่ครองฐานเสียงส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ “เหนือ-อีสาน” ยังคงชื่นชอบในตัวพรรคเพื่อไทย
เมื่อเอ็กซ์เรย์ดูแบบละเอียดแล้ว พื้นที่ภาคอีสาน ” อย่าง “อุดรธานี-ขอนแก่น-ร้อยเอ็ด” ถือเป็น “กล่องดวงใจ” ของพรรคเพื่อไทยและนปช. โดยเฉพาะ“เมืองหลวงคนเสื้อแดง” อย่าง “อุดรธานี” ถือเป็นพื้นที่ “เรดโซน” ที่รัฐบาลทหารยังไม่สามารถเจาะไข่แดงฐานที่มั่นได้สำเร็จ
นอกจากนี้ พบว่าจังหวัดที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงอีก ทั้ง หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม หนองบัวลำภู กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ชัยภูมิ มหาสารคาม ยโสธร สุรินทร์ และ ศรีสะเกษ
ส่วนจังหวัดที่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่เห็นชอบคำถามพ่วง ได้แก่ เลย อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
ขณะที่จังหวัดใหญ่อย่าง “นครราชสีมา” บ้านเกิด “บิ๊กตู่” คนโคราช เทคะแนนท่วมท้น “โหวตเยส” 64.09 เปอร์เซ็นต์ “โหวตโน” 35.91 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่คำถามพ่วง 60.48 เปอร์เซ็นต์ ต่อ 39.52 เปอร์เซ็นต์
หันมาดูพื้นที่เหนือสุดของประเทศ อย่างพื้นที่ภาคเหนือหลายจังหวัด พร้อมใจโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงประชามติ โดยเฉพาะจังหวัด “เชียงใหม่” บ้านเกิด “สองศรีพี่น้อง” ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์หลักสำคัญของ “ตระกูลชินวัตร”
พบว่า “คนเหนือ” เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ 45.65 เปอร์เซ็นต์ ไม่เห็นชอบ 54.35 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่คำถามพ่วง 42.38 เปอร์เซ็นต์ ต่อ 57.62 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่จังหวัดที่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่เห็นชอบคำถามพ่วง ได้แก่ ลำพูน ลำปาง น่าน และแพร่
หากมองดูตามรูปการยิ่งเป็นการตอกย้ำแปลงเป็นคะแนนในฐานเสียงพบว่า “พรรคเพื่อไทย” ยังคงเป็นขวัญใจชาวรากหญ้าในพื้นที่ “เหนือ-อีสาน” อย่างเหนียวแน่น ยากจะงัดกลยุทธ์ขึ้นมาเอาชนะ เพื่อโค่นสมรภูมิแห่งนี้
ข้ามมาดู “ภาคใต้” ฐานเสียงสำคัญอีกแห่งของ “ประชาธิปัตย์” ที่กระจายแตกตัวเป็น แปลงเป็นคะแนนของกลุ่ม“กปปส.” ที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อย่าง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แสดงจุดยืนสวนทางกับ “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กเชียร์ร่างรัฐธรรมนูญ
กลับกลายเป็นว่าพาวเวอร์ของกำนันสุเทพ ช่วยให้“คนใต้” ถล่มคะแนนช่วยดันร่างรัฐธรรมนูญให้ผ่านฉลุย อย่างหมดข้อสงสัยในหลายจังหวัด
แต่ที่น่าสนใจ คือ พื้นที่ “3 จังหวัดชายแดนใต้” ที่สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยการลงคะแนนไม่เห็นชอบทั้งรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงประชามติ ที่ฝ่ายความมั่นคงวิเคราะห์ว่า เนื่องจากมีการบิดเบือนทำให้ประชาชนเข้าใจผิดเรื่องศาสนาในร่างรัฐธรรมนูญ
ผลการเอ็กซเรย์ รายภาคแบบนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่าน ประตูโรดแมพระยะ 3 สู่การเลือกตั้งกำลังเปิด ความมั่นใจของคสช.มีมากขึ้น
แต่มองดูแล้ว “ฐานที่มั่น” ของพรรคเพื่อไทยและกลุ่มคนเสื้อแดง ที่มีแนวคิดสวนทางกับฝ่ายคสช. ยังเกาะกันเหนียวแน่น
ดังนั้นจะว่าไปแล้ว ยังเหลืออีกหลายสเต็ปกว่าจะถึงปลายปี 2560 ที่จะมีการเลือกตั้ง งานนี้ คสช.ประมาทไม่ได้กับแรงขย่มของฝ่ายแพ้โหวต ที่ “แกล้งตาย” อยู่ในฐานที่มั่นเดิม