ประชามติผ่าน แต่คนใช้สิทธิ์น้อย-บัตรเสียเยอะ
ชัดเจนแล้วว่า “ร่างรัฐธรรมนูญ” และ “คำถามพ่วง” ผ่านความเห็นชอบจากการลงประชามติเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อ 7 ส.ค.
ผลการนับคะแนนจากระบบของกกต.หยุดนิ่งที่ 94% ทั่วประเทศ แต่ก็ผลที่ออกมาก็แบเบอ พบว่ามีผู้ออกมาใช้สิทธิทั้งประเทศ 27,623,126 คน เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ 15,562,027 คน คิดเป็น 61.40% ไม่เห็นชอบ 9,784,680 คน คิดเป็น 38.60%
ส่วนประเด็นที่สอง “คำถามพ่วง” ได้รับคะแนนเห็นชอบ 13,969,594 คน คิดเป็นร้อยละ 58.11 ไม่เห็นชอบ10,070,599 คน คิดเป็น 41.80% รวมบัตรดี 26,688,729 ใบ บัตรเสีย 869,043 ใบ
สิ่งที่น่าสนใจมากกว่า ผลคะแนน ที่ “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” คงหนีไม่พ้นประเด็นของ “จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์” และ “จำนวนบัตรเสีย”
กรรมการการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ออกมาตีปี๊บตั้งเป้าคาดการณ์ว่า การลงประชามติ 7 สิงหาคม จะมีประชาชนออกมาใช้สิทธิ์มากมายถึง 80% ของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด 50 กว่าล้านคน ตั้งเป้าหวังทำล่ายสถิติการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่คนออกมาใช้สิทธิ์เพียง 57.61%
แต่เอาเข้าจริง ชาวบ้านออกมาใช้สิทธิ์เพียง 54.6% ต่ำกว่าคาดการณ์ และต่ำกว่าสถิติปี 2550 ส่วนจำนวนบัตรเสียที่มากมายเกือบ 9 แสนใบ ก็สูงกว่าการลงประชามติปี 2550 ที่มีบัตรเสีย 5 แสนใบ
คำถาม “เกิดอะไรขึ้น” กับการลงประชามติครั้งนี้ ที่คนออกมาใช้สิทธิ์น้อย หนำซ้ำบัตรเสียยังมากมายแบบถล่มทลายขนาดนี้
มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย หรือ พีเน็ต หนึ่งในเครือข่ายภาคประชาชนที่เกาะติดทุกการเลือกตั้งใหญ่ในประเทศไทยมานานแสนนานวิเคราะห์ 2 ปรากฏการณ์ ที่กล่าวถึงอย่างน่าสนใจ
“พลีธรรม ตริยะเกษม” เลขาธิการพีเน็ต บอกว่า ผู้สังเกตการณ์พีเน็ตทั่วประเทศเห็นพ้องกันว่าการออกเสียงประชามติครั้งนี้เป็นไปอย่างสันติ ไร้ความรุนแรง ไม่ได้รับรายงานเรื่องการโกงการออกเสียง หรือมีการข่มขู่จากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และผู้มาออกเสียงส่วนใหญ่สามารถลงคะแนน
แต่พีเน็ตมีข้อสังเกตและข้อเสนอต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแนะ เพราะการลงประชามติพบความไม่พร้อมบางประการของ กกต. ที่ยังไม่สามารถทำให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารขั้นพื้นฐาน รวมถึงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่มากพอ หลายพื้นที่ร่างรัฐธรรมนูญเผยแพร่ผ่านกลไกของรัฐขาดการมีส่วนร่วมของภาคประสังคมและเอกชน และเอกสารส่งไม่ถึงบ้านเรือนประชาชนทำให้เกิดความขลุกขลักในการหารายชื่อที่หน่วยในช่วงเช้า
“ผู้มาใช้สิทธิในหลายจังหวัดน้อยกว่าปกติเป็นเพราะประชาชนให้ความสนใจน้อย กกต. เปิดให้มีการรณรงค์ล่าช้า ประชาชนจำนวนไม่น้อยได้รับข้อมูลข่าวสารไม่เพียงพอ ไม่เปิดให้ใช้สิทธิออกเสียงล่วงหน้า และเลือกนอกอาณาจักร รวมถึงบางพื้นที่ฝนตกหนัก จึงควรให้มีมาตรการรองรับปัญหาดังกล่าวในการเลือกตั้งที่จะมีมาถึง”
ส่วนประเด็น “บัตรเสีย” จำนวนมาก พีเน็ตวิเคราะห์ว่า ที่มีผู้ฉีกบัตรโดยไม่เจตนาหรือเข้าใจผิดในหลายหน่วย เพราะการออกแบบบัตรที่ต้องออกแบบอย่างรอบคอบ และต้องทดลองใช้ก่อนการนำมาใช้จริงเพื่อไม่ให้ประชาชนเข้าใจผิด
งานนี้ พีเน็ต จัดหนักชี้เป้าโทษไปที่ กกต. เต็มๆ