คสช.ไม่แคร์ แม้ “อภิสิทธิ์” เซย์โน
หลังจากแทงกั๊กมาเนิ่นนานว่าจะ “รับ” หรือ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ในที่สุด “เดอะมาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงผ่านเฟซบุคไลฟ์ยาวเหยียด
แต่สรุปได้ว่า “ไม่ร่างรัฐธรรมนูญ” และ “ไม่เอาคำถามพ่วง” ด้วยเหตุผล ร่างกฎกติกาที่ออกมา “ไม่ตอบโจทย์” ปัญหาประเทศ
“วันนี้ไม่อาจเป็นมติพรรค เพราะประชาธิปัตย์ประชุมพรรคไม่ได้เช่นเดียวกับพรรคอื่นๆ แต่ผมไม่มองว่าสิ่งที่จะแถลงเป็นความคิดเห็นส่วนตัวเป็นจุดยืนที่แสดงในฐานะหัวหน้าพรรคบนพื้นฐานอุดมการณ์พรรคตั้งแต่ก่อตั้งมาในปี 2479 จึงไม่ใช่เรื่องชอบไม่ชอบส่วนตัว แต่เป็นการสานต่ออุดมการณ์ที่สำคัญ ดังนั้นจุดยืนที่แถลงจึงถือเป็นการสืบสานจุดยืนอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์”
ประเด็นที่อภิสิทธิ์ไม่เอาด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีประเด็นหลักๆ 3 ข้อ คือ 1.ร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค.ไม่ตอบโจทย์ประเทศไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย และไม่เปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตบ้านเมือง
2.สิทธิเสรีภาพของประชาชนน้อยกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และ 3.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวไม่แก้วิกฤติขัดแย้งในสังคมที่ยืดเยื้อมานาน 10 ปี
ขณะที่ผู้ใหญ่ในพรรคอย่าง “นายหัว” ชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ออกโรงเชียร์การตัดสินใจ “หัวหน้ามาร์ค”
“นายอภิสิทธิ์ อ่านร่างรัฐธรรมนูญมากกว่าคนร่างด้วยซ้ำ จึงทำให้รู้จุดอ่อนและจุดแข็งว่ามาตราไหนเป็นอย่างไร มีการออกกฎหมายเพื่อเอื้อกับคนกระทำผิดอย่างไร พรรคประชาธิปัตย์ต้องเป็นหลักให้บ้านเมือง เราต้องยึดหลักความถูกต้อง เราไม่ได้ตำหนิว่าระบบการแต่งตั้งไม่ดีไปเสียทั้งหมด จึงขอให้แกนนำพรรคเป็นหลักยึดมั่นในการทำงานการเมือง”
บวกกับแรงสนับสนุนจากลูกพรรคที่ตบเท้าออกมาโพสต์เฟซบุ๊กสนับสนุนจุดยืนของหัวหน้าพรรคไล่มาตั้งแต่ พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีตส.ส.กระบี่ องอาจ คล้ามไพบูลย์ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
จากประเด็นดังกล่าว จะเห็นได้ว่าหลักใหญ่ใจความของการการตัดสินใจครั้งนี้ หนีไม่พ้นกระบวนการทำประชามติครั้งไม่เปิดกว้างให้ทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี มีการจับกุมผู้ที่มีความคิดเห็นต่างเมื่อเทียบกับการทำประชามติในอดีต
ภาระหนักครั้งนี้คงตกอยู่ที่ต้นทางของแม่น้ำอย่าง “คสช.” เพราะการที่ฝ่ายการเมืองพรรคใหญ่ “ประชาธิปัตย์” และ “เพื่อไทย”จับมือแท็กทีมกันโดยไม่ได้นัดหมาย เหยียบเบรกร่างรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีเท่าใดนัก เพราะใกล้ถึงจุดหมายสำคัญ 7 ส.ค.อีกไม่กี่วัน
หากดูตามรูปการณ์คสช.คงพอจะตีโจทย์แตกว่าช่วงหลังๆหนทางจะไปสู่ความสำเร็จยากขึ้นเห็นได้ปฏิกิริยา หัวหน้าคสช.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ไม่ยินดี ยินร้ายกับการการแสดงจุดยืนของพรรคเก่าแก่เท่าใด
“เรื่องดังกล่าวเป็นความคิดเห็นส่วนตัว ไม่ใช่ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้นจะเหมารวมเป็นเรื่องของกลุ่มและพรรคพวกไม่ได้ รวมทั้งจะไปแนะนำบุคคลอื่นให้คิดคล้อยตามต“ไม่รับก็ไม่รับ จะไปอะไรนักหนา การออกมาจะเป็นการชี้นำหรือไม่คงต้องถามประชาชน ถ้าเขาดูถูกประชาชนหาว่าไม่รู้เรื่องแสดงว่ากำลังดูถูกปัญญาประชาชนหรือไม่ยืนยันว่าประชาชนเขาคิดเป็น”
สอดรับกับท่าที “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมที่ไม่รู้ร้อน รู้หนาว ตอบสั้นๆว่า “ตัวใคร ตัวมัน….แต่ถ้าคิดเองคนเดียวก็คิดไป และคนรักพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้คิดแบบนายอภิสิทธิ์ทั้งหมด เพราะเรื่องเหล่านี้ไปบังคับใครไม่ได้”
แน่นอนว่าการออกมาแสดงจุดยืนครั้งนี้มีกระแสตอบรับทั้ง “เสียงเชียร์” และ “เสียงด่า” แต่หากมองในภาพรวมแล้วย่อมทำให้สาวก กองเชียร์ ฐานเสียง เทคะแนนตามเป็นกอบเป็นกำแน่นอน
จากนี้ไม่รู้ว่ากระแสจากนี้ จะเป็นงานหนักทำให้คสช.ต้องระดมทีมแก้แผนรองรับหรือไม่ เพราะจุดยืนครั้งนี้กระแทกเข้าจุดขายสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฝ่ายหนุนคงต้องออกแรงกระตุ้นช่วยกันปั้นแต้ม หรืออีกมุม คสช. คงประเมินว่า ฝ่ายการเมืองอยากทำอะไรก็ทำไป เพราะสุดท้าย ผลของประชามติจะออกมาหน้าไหน คสช. ก็มีทางออกรออยู่แล้ว