สคฝ.ขยายการคุ้มครองเงินฝาก
สถาบันคุ้มครองเงินฝากขยายการคุ้มครองเงินฝากเพิ่มขึ้นเป็น 15 ล้านบาท หลังจาก ครม.มียกเลิกการคุ้มครองลงเหลือ 1 ล้านบาทในวันที่ 11 ส.ค.59
“สถาบันคุ้มครองเงินฝากได้ขยายวงเงินในการคุ้มครองเงินฝากอีกครั้ง เพื่อใช้ช่วงเวลานี้ทำความเข้าใจกับประชาชนที่ฝากเงินกับสถาบันการเงินมากขึ้น” นายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) แถลงข่าวเมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ สคฝ.ได้ขยายระยะเวลาในการคุ้มครองเงินฝากมาแล้ว 2 ครั้ง และหากนับรวมครั้งนี้ จะเป็นครั้งที่ 3 โดยในครั้งแรกเกิดขึ้นในสมัยที่ นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง เนื่องจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐฯ เมื่อปี 51-52
และครั้งที่ 2 ในสมัยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีต รมว.คลังพร้อมกับปรับปรุงการจ่ายเงินสมทบของสถาบันการเงินให้แก่ สคฝ.จากเดิม 0.47% ของยอดเงินฝากสถาบันการเงินทั้งหมด ลดลงเหลือ 0.01% ส่วนที่เหลือ 0.46% นำไปแก้ไขหนี้ให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ทำให้ยอดความเสียหายของกองทุนฟื้นฟูฯ จากเดิม 1.4 ล้านล้านบาท ลดลงต่ำกว่าระดับ 1 ล้านล้านบาท
สำหรับครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 3 เกิดจากมติ ครม. เมื่อวันที่ 21 เม.ย.59 เพราะเห็นว่า มีประชาชนจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจเรื่องการคุ้มครองเงินฝาก จึงจำเป็นต้องขยายการคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.นี้ จนถึงวันที่ 10 ส.ค.61 กำหนดวงเงินความคุ้มครองเงินฝากไม่เกิน 15 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.61 ถึงวันที่ 10 ส.ค.62 คุ้มครองไม่เกิน 10 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.62 ถึงวันที่ 10 ส.ค.63 คุ้มครองไม่เกิน 5 ล้านบาท และตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.63 เป็นต้นไป คุ้มครองเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งจะครอบคลุมเงินฝากของประชาชนถึง 98.18% จากจำนวนประชาชนที่มีเงินฝากทั้งหมดในระบบ 68 ล้านราย
“จากเดิมก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการคุ้มครองเงินฝาก หลังจากวันที่ 11 ส.ค.59 เป็นต้นไป จะลดลงมาเหลือ 1 ล้านบาทต่อรายต่อบัญชี”
ทั้งนี้ สคฝ.ก่อตั้งเมื่อวันที่ 11 ส.ค.2551 จนถึงปัจจุบันครบ 8 ปี โดยไม่มีเหตุการณ์ที่น่าตกใจจนส่งผลถึงขั้นที่ สคฝ.ต้องสั่งปิดสถาบันการเงินเพื่อคุ้มครองผู้ฝากเงิน เนื่องจากนับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เพิ่มความเข้มงวดและออกมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมสถาบันการเงินให้ได้มาตรฐานจนทำให้สถาบันการเงินมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดย ณ วันที่ 31มี.ค.59 เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ของระบบสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นเป็น 17.50% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 58 อยู่ที่ระดับ17.43% ขณะที่ หลักเกณฑ์ของ ธปท. กำหนดขั้นต่ำสุดเอาไว้ที่ 8.5% เท่านั้น
“ความเข้มแข็งของสถาบันเงินภายในประเทศจะเป็นสิ่งที่การันตีว่า เงินฝากของประชาชนที่ฝากอยู่กับสถาบันการเงินยังคงมีความปลอดภัยสูง และหากในอนาคต เกิดเหตุการณ์จนถึงขั้นต้องปิดสถาบันการเงินก็ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า เงินฝากที่อยู่กับสถาบันการเงินจะได้รับคืนทุกบาททุกสตางค์ภายในระยะเวลาที่รวดเร็วคือไม่เกิน 30 วันและที่สำคัญหลังจาก ธปท.และสถาบันการเงินประกาศใช้พร้อมเพย์เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมานั้น สคฝ. คาดว่าการคืนเงินฝากให้แก่ประชาชนจะรวดเร็วมากยิ่งขึ้น”
นายสรสิทธิ์ กล่าวว่า ปัจจุบัน สคฝ.มีกองทุนที่คุ้มครองเงินฝากถึง 115,000 ล้านบาท มีอัตราเพิ่มขึ้นปีละ 1,300 ล้านบาท โดยตั้งเป้าหมายจะเพิ่มวงเงินกองทุนฯ ขึ้นไปแตะระดับ 200,000 ล้านบาท ก็น่าจะหยุดการเก็บเงินสมทบจากสถาบันการเงิน ซึ่งวงเงินดังกล่าวจะคุ้มครองเงินฝากวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท กรณีสั่งปิดสถาบันการเงินขนาดกลางและขนาดเล็ก
ส่วนกรณีถึงขั้นต้องสั่งปิดสถาบันการเงินขนาดใหญ่ของประเทศนั้น นายสรสิทธิ์ กล่าวว่า จำนวนเงินของกองทุนฯ หากมีสูงถึง 1 ล้านล้านบาทก็ไม่เพียงพอต่อการจ่ายเงินคืนผู้ฝากเงิน เพราะการปิดสถาบันการเงินขนาดใหญ่เป็นเรื่องของวิกฤติเศรษฐกิจ เหมือนกับปี 2540 ที่รัฐบาลในสมัยนั้นต้องการันตี หรือคุ้มครองเงินฝากของประชาชนทุกคนเพื่อป้องกันการตื่นตระหนกของผู้คน ดังนั้น เรื่องการดูแลสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ จึงเป็นหน้าที่ของ ธปท.ที่ต้องกำกับดูแลอย่างเข้มงวดและใกล้ชิดต่อไป ส่วนหน้าที่ของ สคฝ.คือ คืนเงินฝากให้ถึงมือประชาชนเร็วที่สุดและหากต้องสั่งปิดสถาบันการเงินแม้จะก่อให้เกิดเสียหายก็ตาม แต่ความเสียหายจะมีผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด ซึ่งระบบการตรวจสอบข้อมูลของ สคฝ.หากสามารถสั่งปิดกิจการสถาบันการเงินได้ภายใน 1 วัน.