คนไทย 5 ล้านแห่ลงทะเบียนคนจน
คลังดีเดย์ลงทะเบียนคนจนทั่วประเทศวันที่ 15 ก.ค.จนถึง วันที่ 15 ส.ค.นี้ทั่วประเทศมั่นใจคนไทยกว่า 5 ล้านคนแห่เดินเข้าคิว 3 แบงก์รัฐ ธ.ก.ส. ออมสินและกรุงไทย เพื่อรอรับสวัสดิการรัฐ
รัฐบาลเปิดให้ผู้มีรายได้น้อยต่ำกว่า 1 แสนบาทลงทะเบียนรับสิทธิ์สวัสดิการรัฐ ผ่านธนาคารออมสิน กรุงไทย และ ธ.ก.ส.ตั้งแต่ 15 ก.ค.-15 ส.ค.นี้ ยันข้อมูลไม่รั่วไหลและไม่ใช่การลงทะเบียนผู้เสียภาษี แต่จะเป็นฐานข้อมูลเพื่อจัดสวัสดิการรัฐได้อย่างเหมาะสมและตรงเป้าหมาย
“ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 15 ส.ค.นี้ ประชาชนที่มีรายได้น้อยสามารถลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐกับธนาคารเฉพาะกิจได้แล้ว และหากไม่ทันในปีนี้ ปีหน้าก็สามารถลงทะเบียนได้ระหว่างวันที่ 1 ก.ย.-30ก.ย.2560” นายพรชัย ฐีระเวช รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แถลงข่าวเมื่อวันที่ 13 ก.ค.2559
ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2559 รับทราบโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลที่จุดมุ่งหวังในเรื่องลดความเหลื่อมทางสังคมนั้น ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังดำเนินการต่อไป เพื่อเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้รัฐบาลมีข้อมูลที่ถูกต้องและจะนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการจัดสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างเหมาะสมต่อไป
สำหรับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิลงทะเบียน คือ 1.มีสัญชาติไทย 2.อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป โดยต้องเกิดก่อนวันที่ 16 ส.ค.41 3.ว่างงานหรือมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทในปี 2558 ทั้งนี้ ผู้ลงทะเบียนจะต้องยินยอมเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของตนเช่น รายได้ การถือครองทรัพย์สิน หนี้สินที่คงค้าง เป็นต้น เพื่อให้รัฐบาลมีข้อมูลสำหรับนำไปใช้ในการจัดทำสวัสดิการของรัฐ สำหรับหลักฐานที่ต้องใช้ในการลงทะเบียน คือ บัตรประจำตัวประชาชน ส่วนสถานที่ลงทะเบียน คือ สาขาของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยลงทะเบียนที่ธนาคารใดธนาคารหนึ่งเท่านั้น
“วิธีการลงทะเบียน มี 2 วิธี คือ วิธีที่ 1 คือ การกรอกแบบลงทะเบียน ณ ธนาคาร โดยยื่นบัตรประชาชนให้แก่เจ้าหน้าที่ของธนาคาร รับแบบลงทะเบียนจากเจ้าหน้าที่ธนาคาร แล้วกรอกแบบลงทะเบียนพร้อมทั้งลงลายมือชื่อด้วยตนเอง จากนั้น เจ้าหน้าที่ธนาคารจะให้เอกสาร เป็นหางตั๋วแผ่นเล็ก ๆ ให้ผู้ลงทะเบียนเก็บไว้เพื่อเป็นหลักฐานการลงทะเบียน”
“และวิธีที่ 2 คือ การกรอกแบบลงทะเบียนจากสถานที่อื่น แล้วจึงนำมายื่นที่ธนาคาร โดยให้ดาวน์โหลดแบบลงทะเบียนจากเว็บไซต์ของกระทรวงการคลังธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน หรือธนาคารกรุงไทย จากนั้นกรอกแบบลงทะเบียนพร้อมทั้งลงลายมือชื่อด้วยตนเอง และติดต่อที่สาขาของธนาคาร โดยยื่นบัตรประชาชนพร้อมทั้งแบบลงทะเบียนให้แก่เจ้าหน้าที่ของธนาคาร ซึ่งเจ้าหน้าที่ธนาคารจะให้เอกสารเป็นหางตั๋วแผ่นเล็ก ๆให้ผู้ลง ทะเบียนเก็บไว้เพื่อเป็นหลักฐานการลงทะเบียน”
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2559 เป็นต้นไป ผู้ลงทะเบียนสามารถเข้าไปที่หน้าเว็บไซต์ของกรมสรรพากร แล้วกรอกหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนของตน โดยระบบจะแจ้งผลการลงทะเบียนให้ทราบว่า ได้ลงทะเบียนเรียบร้อยแล้วหรือไม่
นายพรชัย กล่าวยืนยันว่า ข้อมูลดังกล่าวจะไม่มีการรั่วไหล และจะไม่เป็นข้อมูลสำหรับการลงทะเบียนผู้เสียภาษี แต่จะถูกจัดเก็บเพื่อให้รัฐประเมินเรื่องการจัดสวัสดิการให้แก่ผู้มีรายได้น้อย หากผู้ใดยังไม่มาลงทะเบียนสามารถลงทะเบียนได้ในครั้งต่อไป ทั้งนี้เราคาดว่าจะมีผู้ที่มาลงทะเบียนราว 50% จากบุคคลที่ได้รับสวัสดิการรัฐในขณะนี้จำนวน 10 ล้านคน ในจำนวนนี้ ได้รับสวัสดิการเรื่องเบี้ยยังชีพประมาณ 8 ล้านคน
“ที่ผ่านมา เรามีปัญหาเรื่องข้อมูลของผู้มีรายได้น้อยที่จะมาทำนโยบายเพื่อช่วยเหลือ ยกตัวอย่าง เราจะทำอีเพย์เมนท์เรื่องเบี้ยยังชีพ ปรากฏพบว่า มีผู้เสียชีวิตแต่ยังที่ได้รับเบี้ยยังชีพอยู่จำนวนหนึ่งหรือราวแสนราย ทำให้งบประมาณไม่ได้ถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง ดังนั้นการทำข้อมูลครั้งนี้ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้การจัดสรรงบประมาณตามนโยบายตรงเป้าหมายมากยิ่งขึ้น” นายพรชัย กล่าวในที่สุด.