ครม.ไฟเขียว “TFF”
ครม.ไฟเขียวกระทรวงการคลังตั้งกองทุน TFF ระดมทุน 100,000 ล้านบาท มั่นใจสิ้นปีเปิดขายหน่วยลงทุนได้ด้าน สคร.แจงวิธีการบริหารพร้อมการันตีผลตอบแทน เจาะใจนักลงทุนสถาบัน
“ภายในเดือนนี้ สคร.จะจดเบียนจัดตั้ง Thailand Future Fund กับ ก.ล.ต.เสร็จเรียบร้อยและภายในเดือนธ.ค.นี้ จะเสนอขายหน่วยลงทุนให้แก่ประชาชารายย่อยและนักลงทุนประเภทสถาบันได้อย่างแน่นอน” นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวภายหลัง ครม.อนุมัติให้กระทรวงการคลังจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือ Thailand Future Fund (TFF) เมื่อวันที่ 12 ก.ค.59
ผู้อำนวยการ สคร.กล่าวว่า กองทุนฯ นี้จะช่วยลดภาระงบประมาณให้แก่รัฐบาล เพราะเป็นเรื่องของการนำโครงการสร้างพื้นฐานที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว หรือที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างมาเสนอขายเป็นหน่วยลงทุนให้แก่นักลงทุน ซึ่งจะทำให้รัฐวิสาหกิจไม่ต้องรอเงินสนับสนุนจากรัฐบาลในการลงทุนสร้างโครงการใหม่ๆ อีกต่อไปเหมือนกับภาคเอกชนที่ออกอินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์
สำหรับวงเงินจัดตั้ง TFF จะอยู่ภายใต้ประกาศ และหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยเป็นกองทุนปิดคือ ไม่กำหนดอายุโครงการส่วนโครงสร้างของ TFF ในระยะแรกกระทรวงการคลังลงทุน 10,000 ล้านบาท โดยเงินทุนประเดิม 1,000 ล้านบาที่กระทรวงการคลังจะลงทุนในทันที โดยมีแหล่งเงินจะมาจากเงินปันผลของกองทุนรวมวายุภักษ์ที่เหลืออีก 9,000 ล้านบาท จะมาจากการแลกเปลี่ยนหุ้น (Swap) ระหว่างกองทุนวายุภักษ์กับ TFF อีก 90,000 ล้านบาท จะเปิดขายหน่วยลงทุนให้แก่นักลงทุน
“ผลตอบแทนจากการลงทุนในTFF สคร.จะกำหนดผลตอบแทนขั้นต่ำและขั้นสูงเอาไว้ โดยมีการจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนตาม พ.ร.บ.กองทุนหมุนเวียนของกรมบัญชีกลาง ซึ่งจะทำหน้าที่ในการรับเงินจาก TFF และจ่ายเงินค่าผลตอบแทนให้แก่นักลงทุนที่ถือหน่วยลงทุน โดยผลตอบแทนนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 ขั้นคือ ขั้นต่ำเพื่อการรันตีว่าผู้ที่ซื้อหน่วยลงทุนจะได้รับผลตอบแทนที่ไม่น้อยกว่า…และได้รับแน่นอน ซึ่งในกรณีนี้จะนำเงินมาจากทุนประเดิม 1,000 ล้านบาทมาใช้จ่าย”
“แต่ในกรณีที่ผลตอบแทนจากการลงทุนของ TFF สูงกว่าเกณฑ์กำหนด เราจะเอาผลตอบแทนดังกล่าว ไปใส่ไว้ในกองทุนหมุนเวียน เพื่อสำรองเอาไว้จ่ายผลตอบแทนให้แก่นักลงทุน โดยอัตราผลตอบแทนลงทุนขั้นสูงและขั้นต่ำนั้น ทางที่ปรึกษาการลงทุนจะเป็นผู้ประเมิน ควรจะจ่ายเท่าไหร่เช่น 2-3%”
นายเอกนิติ กล่าวว่า สำหรับโครงการที่จะเข้าร่วม TFF นั้น ล่าสุดมีอยู่ 2 โครงการที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว และมีรายได้ทุกเดือนคือ 1.โครงการลงทุนทางหลวง พิเศษสาย 7 สายกรุงเทพฯ-บ้านฉาง และ 2.ทางหลวงหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ หากนำทั้ง 2 โครงการมาเข้าร่วมกองทุนTFFภายในระยะเวลา 30 ปี โดยนำรายได้ของทั้ง 2 โครงการมาเข้าโครงการเพียง 50% ก็จะมีรายได้เข้ามาแล้ว 40,000 ล้านบาท และยังมีอยู่อีก 1 โครงการของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยระยะที่ 3 เส้นทางดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก ซึ่งยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง
“โครงสร้างพื้นฐานที่ สคร.จะนำมาเข้าร่วมใน TFF จะระบุชัดเจนว่ากอง TFF ของโครงการไหน และให้อัตราผลตอบแทนเท่าใด เพื่อให้นักลงทุนเกิดความสบายใจ และสามารถบริหารเงินในกระเป๋าได้ ซึ่งขณะนี้ บริษัทประกันชีวิต และกบข.ให้ความสนใจที่จะลงทุนในTFF ค่อนข้างมาก”.