“สมคิด”ชี้อาร์เซปชูเอเชียเป็นหนึ่ง
“สมคิด” โปรยยาหอมนักลงทุนญี่ปุ่นหลังเกิด Brexit ทำให้เศรษฐกิจโลกเกิดความไม่แน่นอน
ชี้การรวมตัวอาร์เซปจะทำให้อาเซียนกลับเป็นมาแกนนำของโลกในยุคปัจจุบัน และไทยพร้อมที่จะเป็นหุ้นส่วนกับทุกประเทศ“การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกอย่างรวดเร็ว และความไม่แน่นอนของปัจจัยลบที่เกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว จะทำให้เอเชียกลับมาเป็นแกนนำของเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง” นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา Bangkok Nikkei Forum 2016 เมื่อวันที่ 7 ก.ค.2559 โดยมีนักธุรกิจและนักลงทุนญี่ปุ่นเข้าร่วมฟังกว่า 400 คน
นายสมคิด กล่าวว่า คนทั้งโลกมีความวิตกกังวล หลังจากอังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือ Brexit ซึ่งเป็นสาเหตุของการสร้างความไม่แน่นอนต่อระบบการเงินและการค้าของโลกในอนาคต ซึ่งในระยะสั้นประเด็นนี้ จะสร้างผลกระทบต่อการเงินและการค้าของอังกฤษเอง เพราะกว่า 40% ของสินค้าส่งออกของอังกฤษส่งไปขายอียู และการลงทุนจากต่างประเทศที่เข้าไปในประเทศอังกฤษนั้น ก็เพราะอังกฤษเป็นศูนย์กลางด้านการเงินของอียู เมื่อออกจากอียูจึงมีผลกระทบ ส่วนผลกระทบระยะสั้นในประเทศไทยยังไม่มีอะไรผิดปกติ ซึ่งพบว่า ค่าเงินแข็งค่าขึ้นและตลาดทุนดีขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า ในยามที่โลกมีความอ่อนไหวประเทศไทยเป็นประเทศที่โลกการเงินมองว่าเป็นประเทศที่น่าจะมาลงทุน
“ท่ามกลางความหวาดวิตกว่าอียูจะมีปัญหา ผมก็มองว่ามันเป็นโอกาสของเอเชีย ซึ่งพูดกันมานานแล้วเอเชียจะก้าวกระโดดจะเป็นยุคของเอเชีย แต่เป็นเพียงการคาดคะเน แต่จากสิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ ทั้งความไม่มั่นใจในอียูและความไม่มั่นใจในการเมืองของสหรัฐฯ มีผล ไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจแต่มีผลทางภูมิรัฐศาสตร์ด้วย” นายสมคิด กล่าว
ถ้าเอากล้องส่องมองมาที่เอเชียจะพบว่า เอเชียยังมีขุมพลังจากรถจักรขนาดใหญ่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอยู่ 4 ขบวนคือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และอินเดีย เมื่อบวกกับอาเซียน หรือเออีซีแล้ว ตลาดจะมีขนาดใหญ่มหาศาล
“ในช่วงระหว่างที่ผมเดินทางไปเยือนจีนได้หารือกับผู้นำจีนถึงการเจรจาเปิดเสรีในกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรืออาร์เซปที่ใกล้ได้ข้อสรุปแล้ว” นายสมคิด กล่าวและ กล่าวว่า “พลังดังกล่าวที่เกิดขึ้นจะสร้างความเชื่อมั่นจะมาสู่เอเชียทันที เพราะอาร์เซปจะเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะครอบคลุมประชากรมากกว่า 2,000 ล้านคนหรือครึ่งหนึ่งของโลก และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) รวมกันกว่า 30%”
ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ ภาวะเงินล้นโลกแต่ไม่รู้จะเอาไปลงทุนที่ไหน เงินจากอังกฤษหรืออียูจะย้ายฐานการผลิตไปสู่ส่วนอื่นของโลก ซึ่งไม่มีที่ไหนปลอดภัยและดีเท่ากับอาเซียน หากอาร์เซปเกิดขึ้นได้จริง จะทำให้อาเซียนเป็นแอ่งของการลงทุนในการผลิต ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียนเฉลี่ยสูงถึง 6-8% ขณะที่เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังซบเซาและอ่อนไหว ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่หาได้ยากอย่างยิ่ง และคนเอเชียต้องช่วยกันคิดและสร้างกันขึ้นมาใหม่
“จากนี้ไปไทยจะไม่เน้นลงนามในเอฟทีเอขนานใหญ่จะจับกลุ่มเล็กๆ เพื่อสร้างแนวร่วมในยุทธศาสตร์ การเป็นหุ้นส่วนระหว่างกันเช่น ประเทศญี่ปุ่นมีอะไรที่ต้องการจากไทย และอะไรที่ไทยต้องการจากญี่ปุ่นให้มาเจรจากัน กับจีนและอินเดียก็จะทำแบบเดียวกัน อะไรที่ทำมาแล้วก็ทำต่อไป แต่จะมีบางประเด็นที่ประเทศอื่นไม่สนใจเช่น โครงการบางอย่างประเทศลาว เวียดนาม ไม่สนใจ แต่ไทยสนใจจะทำกับญี่ปุ่นก็เจรจากันจะทำให้โครงการไปได้เร็ว เช่น ตอนนี้ต้องการเรื่องดิจิทัล รถไฟฟ้า และเทคโนโลยีอวกาศ เป็นต้น”