ดัชนีเชื่อมั่นมิ.ย.ดิ่งเหว
ม.หอการค้าไทยระบุ ดัชนีความเชื่อมั่นเดือนมิ.ย. ทรุดเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน ต่ำสุดในรอบ 25 ปี
เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกเกิดความผัวผวนหลังอังกฤษออกจากอียู และปัจจัยลบภายในประเทศกระหน่ำดัชนีความเชื่อมั่นคนไทย
“ผลจากการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นเดือนมิ.ย.ลดลง เป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกันและต่ำสุดในรอบ 25 เดือน” นายวิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงข่าวเมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย.59 จากการสำรวจประชาชนทั่วประเทศ 2,249 คน พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 25 เดือนนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.57 โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนมิ.ย. อยู่ที่ 71.6 ลดลงจาก 72.6 ในเดือนพ.ค.59 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน 51.7 ลดจาก 51.9 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 79.5 ลดจาก 80.9 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 60.6 ลดจาก 61.1 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ 66.5 ลดจาก 67.7 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 87.6 ลดจาก 89.0
“ประชาชนรับข้อมูลข่าวสารที่เร็วมาก เช่น กรณีของ Brexit (อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป) นอกจากจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกแล้ว ยังทำให้เกิดความผันผวนกับตลาดเงินโลก ซึ่งเป็นต้นเหตุเชิงลบต่อการฟื้นตัวของการส่งออกและเศรษฐกิจไทย” นายวิเชียร กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยลบที่เกิดขึ้นภายในประเทศมาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอีกด้วยเช่น มูลค่าการส่งออกของไทยเดือนพ.ค.59 ลดลง 4.0% กลับมาลดลงเป็นเดือนที่ 2 หลังจากเพิ่มขึ้น 2 เดือนติดต่อกัน กนง.คงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ไว้ที่ 3.1% ราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ ทำให้รายได้ของเกษตรกรทรงตัวในระดับต่ำ และกำลังซื้อในต่างจังหวัดขยายตัวไม่มากนัก รวมถึงผู้บริโภคกังวลปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าทรงตัวในระดับสูง ทำให้รู้สึกว่ารายได้ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น
“การบริโภคของภาคประชาชนยังฟื้นตัวขึ้นไม่มากนักในช่วงนี้ เนื่องจากประชาชนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการบริโภคน่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ถ้าสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกคลี่คลายลงและประสิทธิภาพของการใช้จ่ายและลงทุนของภาครัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นเป็นรูปธรรม”