เอกชนขานรับพ.ร.บ.ภาษีที่ดิน
เอกชนมั่นใจ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ผ่านมาการพิจารณาจาก ครม.ไม่กระทบต่อธุรกิจ ด้าน สศค.แจงถี่ยิบเกษตรกรและคนที่มีรายได้น้อยไม่ได้รับผลกระทบ
เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา ครม.มีมติผ่าน พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยจะเลิกภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนที่ล่าสมัย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมระหว่างคนรวยและคนจน นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวและกล่าวว่า กฎหมายดังกล่าว จะสามารถเพิ่มรายได้ให้แก่ท้องถิ่นปีละประมาณ 64,290 ล้านบาทในปีแรก ซึ่งมากกว่าการจัดเก็บภาษีเดิมทั้ง 2 ฉบับที่ได้เพียง 38,318 ล้านบาท ขณะที่คนจนและคนที่มีฐานะปานกลางของประเทศมากกว่า 90% จะไม่มีภาระเพิ่มขึ้น นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าว
ขณะที่นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า อัตราการจัดเก็บภาษีดังกล่าว คาดว่า รัฐบาลจะต้องออกกฎหมายลูกอีกหลายฉบับ แต่จากการพิจารณาในเบื้องต้นมั่นใจว่าอัตราภาษีและประเภทบ้านที่ถูกจัดเก็บภาษีจะไม่กระทบกับผู้ประกอบการ และตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยรวม เนื่องจากปัจจุบันจำนวนของโครงการที่อยู่อาศัยที่มีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท มีไม่มากนัก ทั้งประเทศกว่า 300 ยูนิตและในความเป็นจริงส่วนใหญ่บ้านที่ราคามากกว่า 50 ล้านบาท จะเป็นบ้านสั่งสร้างเองมีที่ดินเองไม่ได้อยู่ในโครงการจัดสรร ในส่วนของที่ดินว่างเปล่าหรือไม่ใช้ประโยชน์นั้น มองว่าเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการ เชื่อว่าจะมีคนนำที่ดินออกมาขายมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการมีที่ดินเลือกพัฒนาโครงการมากขึ้น
ด้านนายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ครม.อนุมัตินั้น ช่วยลดความเหลือมล้ำทางสังคมได้บางส่วน แต่รัฐบาลต้องระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ซึ่งมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (จีดีพี) 12-13% โดยในส่วนของความต้องการซื้อนั้น อาจได้รับผลกระทบทางจิตวิทยาทันที โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนและกลุ่มผู้ซื้อบ้านมือสองซึ่งปัจจุบันพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปตามการคมนาคม นั่นคือ กลุ่มที่มีบ้านอยู่ตามชานเมือง จะหันมาซื้อคอนโดมิเนียมในแนวรถไฟฟ้าหรืออยู่กลางเมือง ที่มีสัดส่วนกว่า 60-70% ของตลาดรวม ที่จะต้องมีภาระค่าใช้จ่ายสูงขึ้นในระยะยาว
นายอิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า กรณีที่รัฐบาลจะจัดเก็บ
ภาษีบ้านหลังที่สองนั้น มองว่า ตลาดคงจะได้รับผลกระทบบ้างเล็กน้อย แต่หลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว ตลาดบ้านหลังที่สองจะปรับตัวไปเอง และอาจทำให้ผู้กำลังมองหาบ้านมือสอง ต้องให้ดีว่าจะซื้อเพื่อทำอะไร จะซื้ออยู่เอง หรือซื้อเพื่อปล่อยเช่า
“เชื่อว่าในกลุ่มของบ้านมือสองนั้น แม้ต้องเสียภาษีรวมถึงเสียค่าส่วนกลาง แต่ผู้ที่มีเงินออมแล้วนำเงินมาลงทุน อาจไม่สนใจกับการการเสียภาษีมากนัก ในส่วนของที่รกร้างว่างเปล่า ส่วนตัวเห็นด้วยที่จะให้เก็บภาษี เนื่องจากผู้ประกอบการต้องยอมรับว่าการซื้อที่ดินมาเก็บไว้เพื่อเป็นแลนด์แบงก์นั้นต้องยอมเสียภาษี จึงเห็นชอบด้วยเหตุผลและหลักการ แต่สำหรับที่รกร้างว่างเปล่าที่ไม่สร้างประโยชน์ ควรเก็บภาษีซึ่งจะเป็นแรงกดดันให้นำที่ดินมาใช้ให้เกิดประโยชน์ จึงแนะนำว่าสำหรับผู้ที่มีที่ดินและปล่อยรกร้าง ควรนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด”
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่าอัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บจริงตาม พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ 1. ประเภทเกษตรกรรม มีอัตราเพดานสูงสุดไม่เกิน 0.2% โดยจัดเก็บภาษีตามมูลค่าตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป โดย 50-100 ล้านบาท จัดเก็บ 0.05% และ 100 ล้านบาทขึ้นไปจัดเก็บ 0.1% 2. ประเภทที่พักอาศัยหลัก อัตราเพดานสูงสุด 0.5% โดยบ้านหลังแรกที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับการยกเว้น ตั้งแต่ 50-100 ล้านบาท จัดเก็บ 0.05% และ100 ล้านบาทขึ้นไปจัดเก็บ 0.1% ส่วนบ้านหลัง
ที่ 2 จะจัดเก็บตั้งแต่ 0.3% ตั้งแต่หนึ่งบาทแรก ก่อนปรับเป็นระดับตามมูลค่าจนถึง0.3% 3. ประเภทเชิงพาณิชย์ อัตราเพดาน 2% จัดเก็บตามมูลค่าทรัพย์สิน ตั้งแต่หนึ่งบาทแรกถึง 20 ล้านบาท จัดเก็บ 0.3% ไปจนถึง 1.5%และ 4. ประเภทที่ดินว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพที่ดิน มีอัตราเพดานสูงสุด 5% โดยจะจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นทุก 3 ปี คือปีที่ 1-3 จัดเก็บ 1% ปีที่ 4-6 จัดเก็บ 2% และปีที่ 7 เป็นต้นไปจัดเก็บ 3%
“เกษตรกรและคนที่มีรายได้น้อย จะไม่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายใหม่นี้ เพราะข้อมูลจากสำนักงานสถิติ ระบุว่า ที่ดินของเกษตรกรกว่า 99.98% มีมูลค่าต่ำกว่า 50 ล้านบาท โดยผู้ครอบคลองที่ดินรายใหญ่ที่ต้องเสียภาษีมีเพียง 0.01 1% ขณะที่เจ้าของบ้านพักอาศัยส่วนใหญ่กว่า 99.96% มีมูลค่าต่ำกว่า 50 ล้านบาท ส่วนผู้ที่มีที่พักมูลค่าเกิน 50 ล้านบาทมีอยู่เพียง 8,556 หลังเท่านั้น คิดเป็น 0.04 %”