คลังลุยปราบแก๊งเงินกู้นอกระบบ
คลังตั้ง “พิโก้ ไฟแนนซ์” ถึงเจ้าแม่เงินกู้นอกระบบปล่อยกู้คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 36% ต่อปี หากไม่สำเร็จ พร้อมเสนอนายกฯ ใช้ม.44 กุดหัวแก๊งเงินกู้
“หากเราไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้ ก็อาจจำเป็นต้องเสนอนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธิ์ จันทร์โอชา) ในมาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหาอย่างเด็ดขาด และที่ผ่านมา ผมได้หารือเรื่องนี้กับท่านแล้ว” นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวและชี้แจงว่า
ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้ออกเครื่องในการแก้หนี้นอกระบบหลายครั้ง ตั้งแต่สมัยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรมว.คลังในสมัยรัฐบาลพล.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ขึ้นทะเบียนคนจนมาถึงนายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลังที่ออกโครงการประชาภิวัฒณ์ที่แก้ไขหนี้นอกระบบให้มาอยู่ในระบบ
“แต่การปล่อยเงินกู้นอกระบบก็ยังไม่หมดไป อัตราดอกเบี้ยก็แพงมาก 10-20% ต่อเดือน หรือปีละเกือบ 100% มากกว่าที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ที่ 15%” ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าว
จากนี้ไป กระทรวงการคลังจะเพิ่มความเข้มข้นในการแก้ไขปัญหาเรื่องให้สิ้นซาก โดยจะมีการตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาอีก 2 สำนักงานคือ สำนักงานดูแลหนี้นอกระบบ จากปัจจุบันที่มีอยู่แล้วแต่มีลักษณะเป็นหน่วยงานเถื่อน และสำนักงานที่ดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อแก้ไขปัญหาที่สะสมมานามของหนี้นอกระบบและสหกรณ์ออมทรัพย์
“ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นสิ่งที่ทุกรัฐบาลพยายามแก้ไข และที่ผ่านมา กระทรวงการคลังก็ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไปแล้วหลายรอบ แต่ก็ยังมีการก่อหนี้นอกระบบเหมือนเดิม”
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงการคลังได้ใช้เครื่องมือผ่านธนาคารเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบเช่น โครงธนาคารประชาชนของธนาคารออมสินที่คิดอัตราดอกเบี้ยเดือนละ 0.75% หรือเกือบ 20% ต่อปีนี้ และการปล่อยกู้สินเชื่อในโครงการนาโนไฟแนนซ์ ไม่เกิน 36% ต่อปี แต่ก็ไม่ได้รับความนิยม แม้จะมีกฎหมายรอบรับแล้วก็ตาม เพราะทั้ง 2 กรณีนี้ ต้องเป็นการปล่อยกู้เพื่อการลงทุนเท่านั้น
“คนที่ปล่อยกู้นอกระบบอยู่แล้ว จะต้องเข้ามาจดทะเบียนกับกระทรวงการคลัง เพื่อขอดำเนินการปล่อยกู้ที่เรียกว่า “สิน เชื่อรายจิ๋ว” (Pico Finance : พิโก้ ไฟแนนซ์) รายละไม่เกิน 50,000 บาท โดยจะเป็นการกรณีกู้ฉุกเฉิน เช่น ค่าเล่าเรียนบุตร และค่ารักษาพยาบาล โดยสามารถคิดอัตราดอกเบี้ยได้สูงสุดไม่เกิน 36% ต่อปี ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนมิ.ย.นี้”
นอกจากนี้ ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะตั้งหน่วยงานใหม่หรือที่เรียกว่า Business Unit เข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบ โดยสามารถให้คำปรึกษาได้ตลอด 24 ชั่วโมง และจะมีการตั้งคณะกรรมการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบในทุกๆ จังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และมีคณะกรรมการฟื้นฟูเสริมการเพิ่มรายได้ดึงภาคเอกชนบริษัทใหญ่ๆ มาช่วยในรูปแบบประชารัฐ โดยจะฝึกอาชีพใหม่ๆ เรียนรู้วิธีการหารายได้ เพื่อที่จะมีเงินมาชำระหนี้เงินกู้จากพิโก้ ไฟแนนซ์
ส่วนเรื่องการดึงสหกรณ์ออมทรัพย์มาอยู่ที่กระทรวงการคลังนั้นต้องไปหารือกระทรวงเกษตรฯ ให้เรียบร้อย ซึ่งในเบื้องต้น รมว.คลัง เห็นชอบในหลักการและสั่งให้ปลัดกระทรวงการคลังไปหารือ เนื่องจากเรื่องของการเงินทั้งหมดควรที่จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง เหมือนกับกรณีที่ดึงกรมการประกันภัยมาตั้งเป็นสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดยกระทรวงการคลังจะตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมารับผิดชอบโดยตรง เพื่อคุ้มครองและดูแลสมาชิกของสหกรณ์ทั้งทางเงินฝาก สินเชื่อและการลงทุน เพื่อไม่ให้เกิดคดีสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นขึ้นมาอีก.