คลังชงครม.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
คลังชง ครม.ไฟเขียว พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มั่นใจผ่านฉลุย!! เพราะเก็บภาษีบ้านตั้งแต่ราคา 50 ล้านบาทขึ้นไปหรือคิดเป็น 10% ของจำนวนบ้านทั้งหมด
“กฎหมายที่ใช้ระยะเวลาในการศึกษานานกว่า 30 ปี กำลังจะถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในวันที่ 7 มิ.ย.นี้” นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง และกล่าวว่า
“พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ถือเป็นกฎหมายที่สำคัญของกระทรวงการคลัง เพราะผมได้ศึกษาและนำเสนอกฎหมายฉบับนี้มาแล้วทุกรัฐบาล ตั้งแต่เป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย จนมานั่งในตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งอาจจะเรียกกว่า กฎหมายฉบับนี้คือ ตำนานของกระทรวงการคลัง”
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีการกำหนดอัตราภาษีเอาทั้งหมด 4 ประเภท ประกอบด้วย 1.ที่ดินสำหรับการเกษตร จัดเก็บในอัตราสูงสุดไม่เกิน 0.2% ของมูลค่าที่ดิน และยกเว้นไม่เก็บภาษีกรณีที่ดินมีมูลค่าต่ำกว่า 50 ล้านบาท 2.ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย จะจัดเก็บในอัตราสูงไม่เกิน 0.5% ของมูลค่าที่ดิน โดยจะจัด เก็บเฉพาะบ้านที่มีราคาเกินกว่า 50 ล้านบาท และจะจัดเก็บบ้านหลังที่ 2 หรือมากกว่านั้นตั้งแต่หนึ่งบาทแรก โดยบ้านที่มีราคาต่ำกว่า 50 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้นไม่เก็บภาษี
3.ที่ดินเพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรม จัดเก็บสูงสุดไม่เกิน 2% ของราคาที่ดิน และ 4.ที่ดิน รกร้างว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ จะจัดเก็บอัตราสูงสุดไม่เกิน 5% ส่วนกรณีที่ดินของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการก็สร้างหรือจัดสรรที่ดินในช่วง 3 ปีแรกจะจัดเก็บภาษีในอัตราต่ำที่สุด หรือเพียง 50% ของอัตราภาษีที่กำหนด เพื่อลดภาระภาษีให้แก่ผู้ประกอบการ แต่เมื่อครบ 3 ปีแล้ว ยังไม่ดำเนินการก่อสร้างถึงจะถูกเก็บภาษีตามอัตราที่กำหนด
“เมื่อพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีผลบังคับใช้แล้ว กระทรวงการคลังจะขอยกเลิกภาษีที่บำรุงท้องและภาษีโรงเรือนที่กันมานานกว่า 50 ปี” ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าว
สำหรับจุดกำเนิดของกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากรัฐบาลมีความต้องการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวย และคนยากจน และต้องการยกเลิกภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนที่มีข้อยกเว้นไม่จัดเก็บภาษีมากมาย จนทำให้ท้องถิ่นมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายและต้องพึ่งพาเงินงบประมาณจากรัฐบาลกลางอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ2559 รัฐบาลต้องจัดสรรงบอุดหนุนให้แก่ท้องถิ่นมากกว่า 200,000 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้ประมาณ 2 เดือน กระทรวงการคลังเสนอ พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ไปแล้วแต่ถูกสั่งให้กลับศึกษาเพิ่มเติม โดยเฉพาะเรื่องการยกเว้นไม่จัดเก็บภาษีรายการใดบ้าง และที่สำคัญ กรณีที่ดินที่เป็นมรดกหากผู้รับมรดกไม่สามารถชำระภาษีได้จะทำอย่างไร ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นห่วงมากที่สุด
แต่ทั้ง 2 กรณีกระทรวงการคลังก็ได้ปรับปรุงใหม่ และออกเป็นกฎหมายเพื่อให้เกิดความชัดเจน เช่น วัด โรงเรียน ที่ดินส่วนกลางของหมู่บ้าน และสวนสาธารณะ เป็นต้น จะไม่มีภาระภาษีส่วนผู้ครอบครองที่ดินที่ได้รับจากมรดก หรือมีรายได้ไม่เพียงพอในการชำระภาษี กฎหมายลูกจะกำหนดให้สามารถผ่อนชำระภาษี หรือเลื่อนภาษีออกไปได้ด้วย
นอกจากนี้ อัตราภาษีที่กำหนดเอาไว้สูงสุดเท่านั้น แต่การจัดเก็บจริงจะต่ำกว่าอย่างแน่นอน และที่สำคัญ อัตรภาษีที่จัดเก็บยังแบ่งออกเป็นขั้นบันไดอีกด้วย กล่าวคือ มูลค่าที่ดินต่ำจะเสียภาษีน้อยที่สุดและค่อยๆขยับขึ้นแบบขั้นบันได เหมือนกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จัดเก็บแบบอัตราก้าวหน้า
นายสมชัย กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในครั้งนี้ กระทรวงการคลังคาดว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีรายได้เพิ่มทันทีที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ในปีแรกประมาณ 60,000 บาท โดยคาดว่าจะมีบ้านราคาแพงกว่า 50 ล้านบาทที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีเพียง 10% จากจำนวนบ้านทั้งหมดในประเทศไทย
โดยกระทรวงการคลังตั้งเป้าหมายว่า หากกฎหมายผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติ (สนช.)ภายในเร็วๆนี้ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปีต้นปี2560 เป็นต้นไป หรือในวันที่ 1 ม.ค.2560 ซึ่งขณะนี้กรมธนารักษ์ที่ความพร้อมเกือบ 100% ในการจัดเก็บภาษีที่ดินเป็นรายโฉนดได้ทั่วประเทศจากเดิมที่จัดเก็บที่ดินเป็นรายบล็อค
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง เคยถูกนำมาเป็นประเด็นการเมืองและเกิดกระแสต่อต้านอย่างรุนแรงในสมัยที่ นายสมหมาย ภาษี อดีต รมว.คลัง จนนายกรัฐมนตรี ต้องสั่งชะลอโครงการ และให้กระทรวงการคลังนำกลับพิจารณาอย่างรอบครอบอีกครั้ง เมื่อปีที่แล้วเนื่องจากนายสมหมายตั้งเป้าหมายว่า จะจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นถึงปีละ 200,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐบาล.