แบงก์รัฐขอคลายกฎบ้านประชารัฐ
ธอส.-ออมสิน ชงคลังขอแก้ไขมติ ครม.โครงการบ้านประชารัฐ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นโดยเฉพาะบ้านที่ก่อสร้างบนที่ดินของตนเอง เมื่อรวมค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้างแล้วไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ขอยกเว้นไม่รับรวมค่าที่ดิน หรือคิดค่าที่ดินเพียง50%
“เราตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อโครงการบ้านประชารัฐปีนี้ 10,000 ล้านบาท และปีหน้าอีก 10,000 ล้านบาท โดยมียอดปล่อยกู้ล่าสุด เพียง 3,000 ล้านบาท” นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวและกล่าวต่อว่า
ประเด็นนี้ ถือมีความสำคัญมาก เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดให้ ธอส.ต้องปล่อยกู้ตามหลักเกณฑ์ที่เข้มงวด แม้ว่าโครงการนี้อัตราดอกเบี้ยปีแรกจะ 0% ก็ตาม แต่คุณสมบัติของผู้กู้เองก็มีหลายประเด็นที่ ธอส.ต้องพิจารณาควบคู่ไปด้วยเช่น รายได้ในแต่ละเดือน และที่สำคัญคือตัวผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ (เจ้าโครงการ) ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขด้วย
ทั้งนี้ ธอส.ได้เปิดตัวโครงการบ้านประชารัฐ ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา จนถึงเดือนพ.ค.นี้ มีประชาชนแสดงความสนใจและยื่นเรื่องเข้าร่วมโครงการมากกว่า 24,000 ล้านบาท อนุมัติสินเชื่อได้เพียง 3,000 ล้านบาท จากวงเงินทั้งหมด 20,000 ล้านบาท
นายฉัตรชัย กล่าวว่า เงื่อนไขที่จะขอแก้ไขในครั้งนี้ คือ สินเชื่อเพื่อสร้างบ้านบนที่ดินของตนเอง ซึ่งมติ ครม.กำหนดว่า วงเงินสินเชื่อดังกล่าว เมื่อรวมค่าที่ดินแล้วจะต้องไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ทำให้ผู้ยื่นเรื่องขอกู้จำนวนมากไม่สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ เนื่องจากในปัจจุบันราคาที่ดินทั้งในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดตามหัวเมืองใหญ่มีราคาแพงมาก เมื่อหักราคาของที่ดินออกไปทำให้วงเงินกู้เหลือเพียง 100,00-200,000 บาท ซึ่งไม่เพียงพอกับก่อสร้างบ้านหลังใหม่
นอกจากนี้ มติ ครม.ยังกำหนดด้วยว่า ที่ดินที่จะใช้ในการก่อสร้างบ้านต้องเป็นที่ดินของตนเอง ทำให้บ้านที่เคยอยู่อาศัยดั้งเดิมเช่น พ่อและแม่ เป็นต้น ซึ่งอยู่ในฐานะเจ้าของที่ดินตัวจริงก็ไม่สามารถนำที่ดินพื้นดังกล่าวเข้าร่วมโครงการนี้ได้
“เร็วๆ นี้ ธอส.จะหารือกับกระทรวงการคลังถึงประเด็นต่างๆ เหล่านี้เพื่อผ่อนคลายกฎเกณฑ์ โดยเฉพาะการปลูกบ้านบนที่ดินของตนเอง เมื่อรวมราคาที่ดินต้องไม่เกิน 1.5 ล้านบาท จะขอเปลี่ยนแปลงเป็นไม่รวมราคาที่ดินหรือคิดค่าที่ดินเพียง 50% เพื่อเพิ่มวงเงินกู้ให้มีความเหมะสมกับราคาบ้านที่จะปลูกขึ้นมาใหม่ ซึ่งปัจจุบัน ธอส.มีสัดส่วนในการปล่อยกู้ต่างจังหวัดประมาณ 60% อีก 40% เป็นพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมียอดปล่อยกู้เฉลี่ยในโครงการนี้ รายละประมาณ 1-1.2 ล้านบาท” นายฉัตรชัย กล่าวว่า
ขณะที่ ธนาคารออมสินซึ่งเป็นธนาคารเฉพาะกิจของรัฐที่ร่วมปล่อยกู้ในโครงการนี้ นายชายติ พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ระบุว่า ธนาคารปล่อยกู้ในโครงการบ้านประชารัฐไปแล้ว 1,457 ล้านบาท จากยอดแสดงความจำนงของประชาชนทั้งหมด 34,528 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีประชาชนที่ขาดคุณสมบัติหรือทางผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของ ครม.ถึง 60% ซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการขาดความเข้าใจและที่สำคัญคือ ภาคเอกชนบางรายขึ้นป้ายหน้าโครงการว่าเข้าร่วมโครงการบ้านประชารัฐกับรัฐบาล แต่ไม่มีส่วนลดพิเศษ 2% ของราคาบ้าน หรือยกเว้นค่าส่วนกลางเป็นระยะเวลา 1 ปี เป็นต้น ทำให้ธนาคารไม่สามารถปล่อยกู้ได้
“ธนาคารพยายามชี้แจงประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ให้กับผู้กู้และเจ้าของโครงการอย่างต่อเนื่อง แต่ยอมรับว่า มีผู้ประกอบการมีเจตนาไม่บริสุทธิ์ใจ โดยเฉพาะโครงการขนาดเล็กที่อยู่บริเวณรอบนอกปริมณฑล หรือในต่างจังหวัด”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการบ้านประชารัฐใช้กลยุทธ์อัตราดอกเบี้ยต่ำ 0% เพื่อเพิ่มแรงดึงดูดให้แก่ประชาชนในการตัดสินใจซื้อบ้าน โดยบ้านที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 700,000 บาท อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 6 ปี อยู่ที่ 3.16% ต่อปี ผ่อนชำระ 3 ปีแรกเพียงเดือนละ 3,000 บาท ขณะที่วงเงินกู้ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 6 ปี อยู่ที่ 4% ต่อปี ผ่อนชำระ 3 ปีแรก เดือนละ 7,200 บาท นอกจากนี้ ธอส.และธนาคารออมสินยังผ่อนปรนสัดส่วนความสามารถชำระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio หรือ DSR) ทำให้ลูกค้ามีโอกาสได้วงเงินกู้สูงขึ้น
ขณะที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่เข้าร่วมโครงการต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของมติ ครม.คือ 1. ราคาบ้านไม่เกิน 1.5 ล้านบาท 2. ไม่เก็บค่าส่วนกลางเป็นระยะเวลา 1 ปี 3. เอกชนที่เข้าร่วมโครงการจะเป็นผู้ออกค่าโอนและจดจำนอง และ 4. เอกชนจะมอบส่วนลดพิเศษให้แก่ผู้ซื้อ 2% ของราคาบ้าน ซึ่งจะขาดข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้เป็นอันขาด.