ส่งออก 4 เดือนแรกติดลบ
“พาณิชย์” มั่นใจส่งออกเดือนเม.ย.ติดลบ 8% ไม่เลวร้าย เพราะหากคิดเป็นมูลค่าการส่งออกแล้ว ไทยมีมูลค่าส่งออกมากเป็นอันดับ 3 ของโลก “สมคิด” ชี้เร่งรัดลงทุนภายในประเทศจะปรับอนาคตเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะสมดุล
“แม้ว่าการส่งออกของไทยในเดือนเม.ย.59 จะติดลบ 8% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ก็ตามแต่เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์การส่งออกของโลกแล้ว มูลค่าการส่งออกของไทยขยายตัวมากเป็นอันดับ 3 โดยในช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ เวียดนามขยายตัวสูงสุดเป็นอันดับ 1 ที่ 6.2% รองลงมาคือสาธารณรัฐเชคขยายตัว 5% และไทยลดลง 1.3%” นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ แถลงข่าวที่กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมาพร้อมกับระบุว่า
ในเดือน เม.ย.59 การส่งออกของไทยมีมูลค่า 15,545 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 8% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 14,823.6 ล้านดอลลาร์เหรียญฯ ลดลง 14.92% ส่งผลให้มีดุลการค้าเกินดุล 721.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่หากหักมูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและทองคำออกมูลค่าการส่งออกเดือนเม.ย.จะอยู่ที่ 13,817 ล้านเหรียญฯ ลดลง 6.2%
ส่วนในช่วง 4 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.59) ไทยมีมูลค่าส่งออก 69,374.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 1.24% การนำเข้ามีมูลค่า 60,464 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 12.73% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 8,910.4 ล้านเหรียญฯ แต่หากหักมูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและทองคำออกมูลค่าการส่งออกช่วง 4 เดือนปีนี้จะลดลง 1.8%
นายสุวิย์ กล่าวว่า สถานการณ์ส่งออกของไทยในปีนี้จะดีกว่าปีที่แล้วอย่าง เพราะขณะนี้รัฐบาลได้วางแผนเพื่อผลักดันการส่งออกให้ขยายตัวมากขึ้น แต่ในเดือนเม.ย.ที่ติดลบเยอะเนื่องจากมีวันหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ และเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศตะวันออกกกลางได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ลดลงทำให้ยอดการส่งซื้อรถ โดยเฉพาะปิกอัพลดลงอย่างมาก ซึ่งเป็นการรายงานมาจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นในไทย
ขณะที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการส่งออกในเดือนเม.ย.ที่ติดลบ เป็นสิ่งที่เราคาดการณ์เอาไว้แล้วทำให้ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมารัฐบาลพยายามเข็นโครงการขนาดใหญ่เพื่อเพิ่มการลงทุนภายในประเทศ โดยมั่นใจว่าต้นเดือน มิ.ย.นี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองชมพู่และส้มจะประกวดราคาได้ ขณะที่สายสีน้ำเงินผ่านการพิจารณาจาก ครม.และคณะกรรมการพีพีพีเรียบร้อยแล้ว
“ผมพยายามทำให้เกิดจุดเปลี่ยนของประเทศไทย แม้ภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศไม่ได้ แต่ภายในประเทศดีก็สามารถชดเชยกันได้ แม้เศรษฐกิจไทยจะพึ่งพาการส่งออกถึง 70% แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด 100%” นายสมคิด กล่าว
ผู้สื่อรายงานว่า เอกสารเผยแพร่ของกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ในเดือนเม.ย.2559 มูลค่าส่งออกลดลง -2.8% (YoY) ตามทิศทางของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนเม.ย. 59 นี้ ข้าวหดตัวถึง –11.5% (YoY) เช่นเดียวกับ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (-18.5) ทูน่ากระป๋อง (-13.7) น้ำตาลทราย (-15.8) หดตัวสูงซึ่งเป็นผลจากการหดตัวด้านราคาเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในด้านปริมาณส่งออก พบว่าหลายรายการยังมีปริมาณส่งออกที่ดี แต่ด้วยปัจจัยราคาที่ลดลง ทำให้มูลค่าขยายตัวต่ำกว่าด้านปริมาณที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าว ที่ปริมาณส่งออกสินค้ายังคงขยายตัว (+0.3) แต่ด้วยราคาที่อยู่ในระดับต่ำ (-11.7) ทำให้มูลค่าการส่งออกหดตัวลง ในขณะที่ยางพารามูลค่าส่งออกกลับมาขยายตัวดี 10.5% (YoY) โดยเป็นการขยายตัวด้านปริมาณการส่งออกสูงถึง 23.9% (YoY) แม้ว่าราคาจะยังคงหดตัวต่อเนื่องก็ตาม
ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม กลับมาหดตัวอีกครั้งจากการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบเครื่องจักรกลและเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบในขณะที่ราคาน้ำมันที่ลดลงในระดับต่ำ ยังคงเป็นปัจจัยฉุดรั้งมูลค่าส่งออกสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน โดยภาพรวมเดือนเม.ย.59 มูลค่าการส่งออกหดตัว -7.8% (YoY) ปัจจัยหลักมาจากการหดตัวของมูลค่าส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบ (-9.7) โดยเฉพาะการหดตัวของการส่งออกรถปิ๊กอัพ รถบัสและรถบรรทุกที่หดตัวต่อเนื่อง -54.2% (YoY)
ในตลาดออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์และมาเลเซีย เช่นเดียวกับการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบที่หดตัวต่อเนื่อง -9.7% (YoY) จากสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (-10.7) เป็นสำคัญ จากการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ จีน และญี่ปุ่น
ในขณะที่สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันดิบหรือ อุตสาหกรรมที่มีโครงสร้างการใช้วัตถุดิบซึ่งมาจากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก มีสัดส่วนรวมกัน 9.3% ของมูลค่าส่งออก ยังคงหดตัวสูงต่อเนื่องถึง -24.8% จากปีก่อนหน้า ตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเดือนเม.ย.59 ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 39.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกับ มูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองกลับมาหดตัว (-13.9) จากการหดตัวของประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างฮ่องกง เยอรมนี และเบลเยียม เครื่องใช้ไฟฟ้าสำคัญอย่างเครื่องรับโทรทัศน์ ก็หดตัวสูง (-16.7) จากปัจจัยการย้ายฐานการผลิต เช่นเดียวกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มูลค่าส่งออกของไทยชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก และการชะลอการนำเข้าของประเทศคู่ค้า
ด้านตลาดส่งออกหลักอย่างตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (15ประเทศ) หดตัวต่อเนื่อง เช่นเดียวกับตลาดส่งออกสำคัญอย่างอาเซียนเดิม (5 บูรไน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนิเซียและสิงคโปร์ ) กลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนาม) และจีน การส่งออกหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก และจากปัจจัยสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันเป็นสำคัญ เดือนเม.ย. 59 การส่งออกไปยังตลาดหลัก ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (15) หดตัวต่อเนื่องที่ -10.3% -6.7% และ -1.1% (YoY) ตามลำดับจากการหดตัวของการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประ กอบ เช่นเดียวกับตลาดอาเซียนเดิม (5) (-4.7) กลุ่มประเทศ CLMV (-5.0) และจีน (-5.9) ต่างหดตัวจากการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน โดยเฉพาะการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป และเม็ดพลาสติกไปยังจีนหดตัวสูงต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปไปยังสิงคโปร์ ลาว กัมพูชา มาเลเซีย เมียนมา และเวียดนาม ยังคงหดตัวสูงตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้การส่งออกไป CLMV กรณีหักสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและทองคำพบว่าขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ 5.5% (YoY) สะท้อนสถานการณ์การค้ากับกลุ่ม CLMV ยังมีทิศทางการเติบโตที่ดี โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัวสูงได้แก่ เครื่องปรับอากาศ เครื่องดื่มและน้ำตาล เป็นต้น สอดคล้องกับภาพรวมการค้าชายแดนที่ขยายตัวต่อเนื่อง
การค้าของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านผ่านช่องทางการค้าชายแดนและผ่านแดน เติบโตต่อเนื่องจากปี 2558 (มีสัดส่วนคิดเป็น 8.9% ของมูลค่าการค้ารวมของไทย) โดยมูลค่าการค้าชายแดน (มาเลเซีย เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา) เดือนเม.ย.59 มีมูลค่า 82,728 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.39% (YoY) และระยะ 4 เดือน (ม.ค. – เม.ย. 59) มีมูลค่า 336,901 ล้านบาท ขยาย ตัว 3.00% (YoY) ทำให้ภาพรวมเดือนเม.ย.59 ไทยได้ดุลการค้าชายแดนรวม 4 ประเทศ เป็นมูลค่า 16,592 ล้านบาท และระยะ 4 เดือน (ม.ค. – เม.ย. 59) ได้ดุลการค้า 64,477 ล้านบาท ขณะที่การค้าผ่านแดน (สิงคโปร์ จีนตอนใต้ เวียดนาม) เดือนเม.ย.59 มีมูลค่า 12,182 ล้านบาท ขยายตัว 44.74% (YoY) และระยะ 4 เดือน (ม.ค. – เม.ย. 59) มีมูลค่า 48,834 ล้านบาท ขยายตัว 13.16% (YoY) ทำให้ภาพรวมเดือนเม.ย.59 ไทยได้ดุลการค้าผ่านแดนรวม 3 ประเทศ เป็นมูลค่า 427 ล้านบาท และระยะ 4 เดือน (ม.ค. – เม.ย. 59) ได้ดุลการค้า 3,929 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมการค้าชายแดน และผ่านแดน เดือนเมษายน 2559 มีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 94,910 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.13% (YoY) และระยะ 4 เดือน (ม.ค. – เม.ย. 59) มีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 385,735 ล้านบาท ขยายตัว 4.19% (YoY).