“ปลดล็อก”….จริงหรือ?
จริงหรือ? ที่แนวคิดยกเลิกการเรียกฝ่ายห็นต่างมาปรับทัศนคติของ คสช. กับข้อเสนอของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ออกกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนที่ออกมาชุมนุมบนถนนด้วยความสุจริต
โดยไม่ผูกติดกับแกนนำการชุมนุม นักการเมืองที่มีคดีจะสามารถ “ปลดล็อก” ได้อยู่ๆ “บิ๊กหมู” พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) และเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ก็ออกมาพูดถึงแนวคิดของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ที่จะไม่มีการรียกมาปรับทัศนคติกันอีกแล้ว
“การทำงานของ คสช.ครบรอบ 2 ปี ว่า เราไม่ได้มีการเตรียมการอะไรเพราะมีการดำเนินการอยู่แล้วเพื่อให้เกิดความเรียบร้อย ซึ่งเราดูแลทุกวันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่ดี ทั้งนี้ประชาชนต้องอยู่ด้วยความสงบและใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีความสุข ซึ่งพวกที่ก่อกวน คสช.จะไม่ปล่อยไว้ เราดูแลทุกเรื่องอยู่แล้ว ส่วนเรื่องการปรับทัศนคติจะไม่เรียกแล้ว เพราะคุยกันไม่รู้เรื่อง ท่านนายกรัฐมนตรีไม่ได้เน้นย้ำอะไรเป็นพิเศษ เพราะเราดูแลสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2ปี เราไม่ห่วงกลุ่มใดเป็นพิเศษ เพราะเราติดตามทุกกลุ่มที่จะทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย….”
พร้อมๆกับเวทีงานเสวนารำลึกเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนที่ออกมาชุมนุมบนถนนด้วยความสุจริต โดยไม่ผูกติดกับแกนนำการชุมนุม นักการเมืองที่มีคดี รวมทั้งตัวองด้วย
“…เพื่อเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ และต่อยอดประโยชน์ที่เกิดจากการต่อสู้ของประชาชนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 ผมมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อคือ 1.ประเทศไทยไม่ควรกลับไปใช้รัฐธรรมนูญที่ถดถอยด้านสิทธิเสรีภาพ ไม่เคารพ หรือละเมิดสิทธิ รวมถึงไม่ให้การคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพของประชาชน หากคาดหวังให้ประชาชนให้ความชอบธรรมก่อนที่รัฐธรรมนูญจะมีการบังคับใช้ แต่การแสดงความเห็นของประชาชนอยู่ภายใต้ความกลัวว่าจะผิดกฎหมาย การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญถือว่าไม่บรรลุวัตถุประสงค์ และการทำประชามติจะสูญเปล่าทั้งเงิน เวลาและทรัพยากร ดังนั้นขอเรียกร้องไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าต้องยืนยันที่จะไม่ตีความคำว่าปลุกระดม เกินกว่าความเป็นจริง หากผู้ใดจะรณรงค์ ชี้นำ โดยไม่มีเจตนาก่อความวุ่นวาย ต้องเปิดโอกาสให้ทำได้เพื่อให้เกิดความชอบธรรมในการทำประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ
2. ขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจยุติความคิดที่ว่าปัญหาของบ้านเมืองเกิดจากการชุมนุม และประชาชนที่ออกมาชุมนุมบนฐานของอุดมการณ์และความคิดที่สุจริตเป็นการสร้างปัญหาหรือสร้างความเสียหาย เพราะในเหตุการณ์การชุมนุมในประเทศหลายครั้งที่ผ่านมา พบว่าหากไม่มีการชุมนุมประเทศไทยอาจถดถอย และตกอยู่ภายใต้การปกครองที่ไม่ชอบธรรม
และ 3.ในประเด็นของความปรองดอง ตนขอเสนอให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนที่ออกมาชุมนุมบนถนนด้วยความสุจริต โดยไม่ผูกติดกับแกนนำการชุมนุม นักการเมืองที่มีคดี ซึ่งรวมถึงตัวของตนด้วย เพราะการใช้สิทธิและประชาชนนั้นไม่ถือเป็นความผิด ส่วนพฤติกรรมของบุคคลอื่นๆ ที่ร้ายแรงกว่านั้นขอให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องพิสูจน์ ส่วนเมื่อเข้ากระบวนการแล้วจะมีมาตรการพิเศษ เพื่อให้อภัยหรือแสดงออกถึงความเมตตาธรรมก็อยู่ที่การพิจารณา ซึ่งตนเชื่อว่าหากรัฐธรรมนูญยอมรับสิทธิประชาชนในการต่อสู้และมีการนิรโทษกรรมประชาชน จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่การเมืองจะเข้าสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืนและปรองดองอย่างแท้จริง
ขณะที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงกลาโหม ประกาศชัด “ผมพูดหลายครั้งแล้วและ ผบ.ทบ.พูดไปแล้ว ก็ว่าไปตามที่ ผบ.ทบ.ให้สัมภาษณ์
ปรับมาหลายครั้งก็ไม่มีอะไร ก็จะเรียกมาว่าทำผิดอะไรบ้าง ส่วนจะผิดหรือไม่ผิดต้องว่าไปตามกฎหมาย”
ด้าน “บิ๊กตู่” แม้จะอยู่ไกลถึงรัสเซีย แต่ก็ส่งเสียงมาเพื่อให้ได้ยินกันชัดๆ
“..เป็นเรื่องที่คิดไว้นานแล้ว แต่รอเวลาที่เหมาะสม ผมไม่จำเป็นต้องพูดล่วงหน้า ไม่ได้บิดบัง ซ้อนเร้น ซึ่งก็จะเปิดโอกาสให้พูดได้ในทุกเรื่อง ทั้งการเมือง ความขัดแย้ง คดีความ เพื่อที่จะได้รู้แนวคิดของแต่ละคน รับฟังไว้และแก้ปัญหา แต่ต้องฟังความเห็นของคนส่วนใหญ่ของประเทศด้วย เพราะคนที่เดือดร้อนและมีคดีความมีไม่กี่คน แต่มาทำให้คนทั้งประเทศสับสน เอาคนมาบิดเบือนเนื้อหา ค้านกับกฎหมาย ซึ่งทำไม่ได้ จะต้องใช้กฎหมายตัดสิน
การเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นครั้งนี้ ไม่ได้มีใครกดดัน แต่ต้องการให้พูดออกมา และให้คนฟังไปแยกแยะเอง จะได้รู้ว่าเขาคิดอะไร ผมไม่เคยสั่งว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะต้องผ่านหรือไม่ผ่านประชามติ “อย่ามาบอกว่า ผมให้ออกกฎหมายให้ยาก เพื่อไม่ให้ผ่าน ผมจะทำทำไม จะต้องเห็นใจคนร่าง ที่เขาต้องการร่างให้ออกมาดี แต่ถ้าคนไทยรับไม่ได้ ก็ต้องทบทวนและร่างใหม่ ถ้าผ่านก็นำไปสู่การเลือกตั้ง แต่ถ้าถามว่า จะเลือกตั้งได้หรือไม่ ผมตอบไม่ได้ เพราะยังไปไม่ถึงก็เริ่มมีการต่อต้านแล้ว”
ส่วนผลจะเป็นอย่างไร เวทีที่ กกต.เป็นเจ้าภาพเชิญพรรคการเมืองมาพูดคุยกันที่สโมสรทหารบก จะสูญเปล่าหรือได้ประโยชรน์แค่ไหน คงต้องรอดู จะสร้างสรรค์จนถึงขึ้นมีการเปิดเวทีอีกครั้งให้นักวิชาการ –ต่างประเทศมาแสดงความคิดห็นได้หรือไม่
ที่สำคัญจะสามารถ “ปลดล็อก” ตามที่ตั้งเป้าไว้ได้หรือไม่ หรือจะเป็นแค่การโยนหินถามทาง สร้างแรงกระเพื่อมของน้ำท่านั้น