ดัชนีเศรษฐกิจฐานรากทรุด
ออมสินโชว์ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานรากเป็นครั้งแรก พบมีค่าเท่ากับ 44.9 ต่ำกว่าระดับ 50 เนื่องจากภาะเศรษฐกิจในปัจจุบันชะลอตัว โดยได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวน ส่วนมารตการรัฐตำบลละ 5 ล้านบาทถูกใจชาวบ้านมากที่สุด
“ธนาคารออมสินจะไม่เอาใจรัฐบาล หากดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานรากออกมาไม่ดี” นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน แถลงข่าวเมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา ในโอกาสที่ธนาคารออมสินเปิดตัว “ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก” หรือ Grassroots Economic Sentiment Index : GSI เป็นครั้งแรก
โดยผลงานวิจัยชิ้นนี้ จะอยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานใหม่คือ “ศูนย์วิจัย ธุรกิจ และเศรษฐกิจฐานราก” โดยได้สำรวจตัวอย่างประชาชนที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน จำนวน 1,580 คน แบ่งเป็นประกอบอาชีพเกษตรกร พ่อค้าแม่ค้าและอาชีพอิสระ 41.3% ลูกจ้างรายวัน 27.3% ผู้ว่างงาน 5.9% และผู้ที่มีรายได้ประจำต่ำกว่า 15,000 บาทอีก 25.5 % พบว่า ดัชนี GSI มี ค่าอยู่ที่ 44.9 ต่ำกว่าปกติที่ระดับ 50 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนในระดับฐานรากยังคงเห็นว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวไม่มากนักโดยมีปัจจัยมาจากปัญหาภัยแล้ง ฝน ทิ้งช่วงและราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ
ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานรากในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 43.5 สะท้อนให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจและการจ้างงานยังไม่ฟื้นตัวมากนัก และการที่ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานรากต่อสถานการณ์ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 46.2 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนในระดับฐานรากมีความเชื่อมั่นมากขึ้น แต่มีความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต
นายชาติชาย กล่าวว่า ตัวเลขที่ออกมาในปัจจุบันไม่ค่อยดี เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่เมื่อแยกตามองค์ประกอบของดัชนีฯ พบว่า ประชาชนระดับฐานรากมีความมั่นใจในความสามารถจับจ่ายใช้สอยและการหารายได้ในอนาคตสูงกว่าดัชนี GSI จึงมองว่า แนวโน้นในอนาคตของเศรษฐกิจไทยมีทิศทางที่ดีขึ้น
“ธนาคารออมสินคาดการณ์ว่า การบริโภคของประชาชนในระดับฐานรากจะฟื้นตัวได้ไม่มากนักในอนาคตอันใกล้นี้ เนื่องจากประชาชนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกแต่การฟื้นตัวของการบริโภคน่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงกลางไตรมาสที่ 2 หากสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและปัญหาภัยแล้งคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น”
นอกจากนี้ ธนาคารออมสินยังได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในระดับฐานรากที่มีต่อนโยบายของภาครัฐ โดยในส่วนของการได้รับประโยชน์จากมาตรการของรัฐนั้นพบว่า ประชาชนในระดับฐานราก ส่วนใหญ่ได้รับผลประโยชน์จากมาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายสำหรับพัฒนาตำบลละ 5 ล้านบาท มากที่สุด ถึง 76.6% รองลงมาคือ มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติปี 55-57 กรณีสำรองจ่ายฉุกเฉิน ถึง 72.9% มาตรการปล่อยกู้กองทุนหมู่บ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อย 71.7% และมาตรการสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีผ่านธนาคารออมสิน 70.8%
ส่วนมาตรการที่ได้รับประโยชน์น้อยที่สุดคือ โครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ 67.7% ขณะที่ มาตรการของรัฐที่มีผลบวกต่อครัวเรือนในเรื่องภาระหนี้ที่ลดลงมากที่สุดคือ ต้นทุนการผลิตลดลง และการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น
นายชาติชาย กล่าวว่าเมื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนในระดับฐานรากว่าเศรษฐกิจของประเทศจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติและขยายตัวได้เมื่อใด ประชาชนในระดับฐานรากคาดว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติและขยายตัวในช่วงหลัง ปี 2560 คิดเป็น 42.2% รองลงมาคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ภาวะปกติและขยายตัวได้ในช่วงปี 2560 คิดเป็น 30.8% และอีก 27% คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติและขยายตัวได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2559 โดยธนาคารออมสินคาดว่า ตลอดทั้งปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.2% ของจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) โดยครึ่งปีแรกจีดีพีขยายตัว 3% และครึ่งปีหลังขยายตัว 3.5%
“ธนาคารออมสินจะนำดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานรากเสนอกระทรวงการคลังและรัฐบาลต่อไป เพื่อให้กระทรวงการคลังนำข้อมูลดังกล่าว ไปศึกษาเพิ่มเติมเพื่อออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตรงกับความต้องการของประชาชนฐานรากมากที่สุด ส่วนการออกบริการทางการเงินของธนาคารออมสินใหม่ๆ ในอนาคต ก็ต้องมีความสอดคล้องกับดัชนีดังกล่าวด้วย เช่น การออกบัตรเงินสด เป็นต้น”
นายชาติชาย กล่าวว่า ปัญหาที่พบในการทำดัชนีคือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนในระดับฐานราก ซึ่งขณะนี้ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างออกมาตรการแก้ไขหนี้นอกระบบ โดยจะเปิดให้เอกชนทำพิโก ไฟแนนซ์ หรือสินเชื่อรายจิ๋ว อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 36% ต่อปี เพื่อแข่งกับเจ้าแม่เงินกู้นอกระบบ ขณะที่ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็จะมีสินเชื่อประชาชนออกควบคู่กันไปด้วย.