“พ.ร.บ.รอการกำหนดโทษ” ปรองดอง…ที่จุดติดยาก!!
“ปรองดองสมานฉันท์” ของจริงหรือแค่ “เกมการเมือง” ที่ “เสรี สุวรรณภานนท์” ผุดความคิดให้ออก “พ.ร.บ.รอการกำหนดโทษ” ที่สุดท้ายกลายเป็นกระแสแค่พลุแตกหรือไม่
ทันทีที่ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) อย่าง “เสรี สุวรรณภานนท์” และสมาชิกจำนวนหนึ่ง เสนอให้ออกกฎหมายรอการกำหนดโทษเพื่อสร้างความปรองดอง เท่านั้น ฝ่ายการเมืองก็เหมือนสะอึกไปฉับพลัน ก่อนที่จะมีเสียงออกมาคัดค้านจากทั่วสารทิศ
“เสรี” บอกว่า“ข้อเสนอ พ.ร.บ.รอการกำหนดโทษ นั้น เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการหาทางออกการปรองดอง โดยได้มีการศึกษารวบรวมความคิดเห็น และแนวทางจากหลายๆ ฝ่าย แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่ใช่ข้อยุติและหากใครมีข้อเสนอก็สามารถเสนอแนะเข้ามาได้เพื่อหาทางออกร่วมกันโดยวัตถุประสงค์หลักของข้อเสนอนี้ เป็นข้อเสนอที่เน้นช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกดำเนินคดีต่างๆ ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการให้ทันตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ทั้งนี้ ไม่ห่วงหากจะมีการออกมาเคลื่อนไหวต่างๆ พร้อมมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ประชาชน และฝ่ายการเมืองได้ให้ความสนใจ”
คำถามที่ตามมาคือ ข้อเสนอดังกล่าวจะสามารถสร้างความปรองดองได้จริงหรือ? เพราะการให้ คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกกฎหมายล้างผิด ผู้ที่มีคดีติดตัว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม “พันธมิตร” และ “กปปส.” ได้พ้นความผิดในทุกข้อกล่าวหา ในลักษณะการ “รอลงอาญา” ตลอดชีวิตหากไม่ทำผิดเงื่อนไข พ.ร.บ. รอการกำหนดโทษ
จะทำให้สังคมยอมลืมกฎหมายที่หน้าตาคล้ายกันในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีลักษณะแบบนิรโทษแบบเหมาเข่งสุดซอย แต่ข้อเสนอใหม่นี้อาจเรียกได้ว่าเป็นเพียงครึ่งเข่ง ที่ถูกมองว่าเป็นความพยายามในการช่วยเฉพาะพวกตัวเองที่มีคดีติดตัวเท่านั้น
“รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม” ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่าข้อเสนอกฎหมายรอการกำหนดโทษยังมีจุดอ่อน หากตอบคำถามสังคมไม่ได้จะทำให้เกิดความขัดแย้งมาก
“..ส่วนตัวไม่ขัดข้องและยินดีพูดคุย แต่จากการสังเกตพบว่า เนื้อหาของกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้บางฝ่าย ซึ่งกฎหมายรอการกำหนดโทษนั้น เมื่อศาลพิจารณาแล้วว่าผิด แต่ไม่กำหนดโทษว่า มีมากน้อยเพียงใดและจะมีโทษอย่างไร หากจะออกกฎหมายต้องไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ และหากข้อเสนอของนายเสรีไม่มีผลลบ คงไม่มีคนออกมาคัดค้านจำนวนมาก.. ซึ่งการออกกฎหมายต้องคำนึงถึงความรู้สึกประชาชน เพราะความผิดตามกฎหมายจะต้องรับโทษ แต่การบอกว่า จะให้รอการลงโทษนั้นจะต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น มิเช่นนั้นอาจจะกลายเป็นความขัดแย้งครั้งใหม่…”
ด้านพี่ใหญ่แห่งคสช. อย่าง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประกาศกล่าวทันที
“ผมไม่เห็นด้วยเลย มันจะทำให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้น อยากให้มองตามโรดแมปที่รัฐบาลได้สร้างไว้ และนำไปสู่การเลือกตั้งในอนาคต ก็ขอให้ สปท. ไปพิจารณาความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ อย่างรอบด้าน…” ก่อนที่จะย้ำว่าความคิดเห็นดังกล่าว เป็นความคิดเห็นส่วนตัว ไม่ได้มาจากรัฐบาล หรือ คสช. เนื่องจาก สปท. ต้องมีเสรีภาพในการเสนอเรื่องเพื่อการปฏิรูปประเทศ”
แค่โยนหินถามทางก็ถูกสกัดดาวรุ่งชนิดเป็นได้เพียง “ผีพุ่งใต้” ที่ตัวของเสรี สุวรรณภานนท์ ถึงกับโอดครวญว่า แนวคิดดังกล่าวต้องการจะแก้ปัญหาในเรื่องที่เป็นคดีความและความขัดแย้งมายาวนาน เพราะแนวความคิดเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมก่อนหน้านี้มีคนไม่เห็นด้วยจำนวนมาก ผมจึงเสนอแนวทางใช้กระบวนการทางกฎหมายมาแก้ปัญหา แต่ก็ไปกระทบฝ่ายการเมืองส่วนมาก
“วันนี้ที่มีการคัดค้านเยอะเขาอาจไม่เห็นด้วย แต่ถ้าวันหน้าเขาติดคุกกันหมดคงจะนึกถึงผม”
แนวคิดดังกล่าวคงไม่ธรรมดา แม้วันนี้จะอ่อนแรงจนถ่านมอดไปแล้วก็ตาม แต่อย่าลืมว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดาๆ อย่างแน่นอน
เพราะอย่างน้อยคนชื่อ “เสรี สุวรรณภานนท์” นี้ ก็เป็นรุ่นพี่ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ เคยร่วมร่างรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายครั้ง
หลังเหตุการณ์รัฐประหาร ปี 2557 ได้รับเชิญมาเป็นสปช. และได้รับเลือกเป็นประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เมื่อหมดยุคสปช. ก็ยังเหนียวแน่ได้นั่งทำงานต่อในฐานะประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง (สปท.)
ที่ไม่รู้ว่า รุ่นน้อง ที่วันนี้เป็นหัวหน้าคสช. และนายกรัฐมนตรี จะคล้อยตามข้อเสนอของรุ่นพี่คนนี้หรือไม่ ต้องติดตามกันยาวๆนะพี่น้อง.