คลังดึงเจ้าแม่เงินกู้เข้าระบบ
กระทรวงการคลังเล็งออกผลิตทางการเงินรูปแบบที่เรียกว่า Pico Finance หรือสินเชื่อรายจิ๋วเพื่อแก้ไขดอกเบี้ยแพงของเจ้าแม่เงินกู้นอกระบบ กำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 36% ต่อปีสนองนโยบายรัฐบาล
“ในที่สุดกระทรวงการคลังก็จะอนุมัติให้เจ้าหนี้นอกระบบ ที่มีฐานะเป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่ในท้องถิ่นสามารถปล่อยเงินกู้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ภายใต้แนวคิด Pico Finance หรือสินเชื่อรายจิ๋ว” นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวและกล่าวต่อว่า
เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรี (สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) เดินทางมามอบนโยบายเรื่องแก้ไขหนี้นอกระบบให้กระทรวงการคลังดำเนินการ ภายหลังจากหนี้ครัวเรือนพุ่งทะลุ 80% จึงทำให้เกิดความกังวลว่ายอดหนี้ที่เพิ่มขึ้นของประชาชนระดับฐานราก จะส่งผลให้คนเป็นหนี้ไม่รู้จบ
“Pico Finance” (pico หมายถึงหน่วยระยะทาง) มีขนาดที่เล็กกว่าไมโคร ไฟแนนซ์ และนาโน ไฟแนนซ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวและชี้แจงว่า พิโก ไฟ แนนซ์ จะปล่อยกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท และยังเปิดโอกาสให้ปล่อยกู้แบบฉุกเฉินได้ด้วย เช่น กู้เพื่อค่าเทอมบุตร รักษาพยาบาลและอื่นๆ ซึ่งมีลักษณะเดียวกับเงินกู้นอกระบบ
นายกฤษฎา กล่าวว่า ที่ผ่านมาสถาบันการเงินได้มีการปล่อยสินเชื่อแบบไมโคร ไฟแนนซ์ และยังเปิดให้บริษัทเอกชน ที่มีทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท ขึ้นไปสามารถเปิดนาโน ไฟแนนซ์ ได้ แต่ในภาพรวมแล้ว ยังไม่สามารถแก้ไขหนี้นอกระบบได้ เพราะระบบที่มีอยู่ไม่สะดวก และไม่คล่องตัวเหมือนกับวิธีการปล่อยกู้นอกระบบ
ดังนั้น เมื่อสนองนโยบายของรัฐบาล สศค.ก็มีแนวคิดที่จะดึงเจ้าพ่อเจ้าแม่ที่ปล่อยเงินกู้นอกระบบอยู่แล้วเอาเข้ามาอยู่ในระบบ แต่จะกำหนดพื้นที่ในการปล่อยกู้อย่างชัดเจน เช่น จังหวัดเชียงใหม่ สงขลา หรือรังสิต ดอนเมือง เป็นต้น โดยห้ามปล่อยกู้ข้ามเขตอย่างเด็ดขาด
สำหรับอัตราดอกเบี้ยของ พิโก ไฟแนนซ์ จะคิดเท่ากับอัตราดอกเบี้ยของ นาโนไฟแนนซ์ คือ สูงสุดไม่เกิน 36% ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบที่คิด 20-30% ต่อเดือน หรือปีละกว่า 100% โดยจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กระทรวงการคลัง เนื่องจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) งานล้นมือแล้ว
ส่วนหลักเกณฑ์ของ พิโก ไฟแนนซ์ จะมีองค์ประกอบหลักๆ เช่น ต้องจัดตั้งเป็นรูปแบบบริษัท มีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 5 ล้านบาท ส่วนรูปแบบการปล่อยกู้คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 36% ปล่อยกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันและปล่อยกู้ฉุกเฉินได้ ซึ่งแตกต่างจากไมโคร ไฟแนนซ์ และนาโน ไฟแนนซ์ที่ผู้กู้ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันและปล่อยกู้เพื่อการค้าเท่านั้น โดยนาโนไฟแนนซ์ต้องมีทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท ปล่อยกู้ได้ทั่วประเทศ
ขณะที่ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเช่น ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็จะออกมาตรการแก้ไขหนี้นอกระบบด้วยเช่นกัน แต่รูปแบบวิธีการและอัตราดอกเบี้ยก็ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ของธนาคารแต่ละแห่ง ซึ่งล่าสุดธนาคารออมสินจะปล่อยกู้รายละไม่เกิน 100,000-200,000 บาทอัตราดอกเบี้ย 0.75-1% ต่อเดือน เป็นต้น.